ฉากทัศน์ "ทางรอดประเทศไทย" | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ต่อเนื่องจากบทความว่าด้วยความเสี่ยงกับฉากทัศน์ อนาคตประเทศไทย ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ใช้ในการจินตนาการภาพอนาคตทางเลือกหรือ ฉากทัศน์ ของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า มี 2 ประการด้วยกัน
ปัจจัยแรก รูปแบบการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจ ขั้วหนึ่งคือการเติบโตแบบสีน้ำตาล (Brown growth) ซึ่งเน้นการผลิตและบริโภคที่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและมักนำไปสู่การพัฒนาที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา
อีกขั้วหนึ่งของแกนนี้เป็นการเติบโตแบบสีเขียว (Green growth) ซึ่งเน้นการผลิตที่มุ่งเพิ่มมูลค่าการผลิตและการบริโภคไปพร้อมกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีความมุ่งหวังว่าในที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาแบบฟื้นฟูและทั่วถึง ทำให้เกิดฉากทัศน์ 4 ฉากดังรูปต่อไปนิ้
อีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดอนาคตทางเลือกของประเทศไทยคือรูปแบบอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมืองที่ใช้ในการครอบครอง ควบคุมและจัดสรรทรัพยากร รวมถึงการเก็บเกี่ยวและสะสมมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร
แผนภาพแสดงเส้นทางเคลื่อนสู่ฉากทัศน์ประเทศไทยใน พ.ศ. 2585
รูปแบบเครือข่ายอำนาจเหนือทรัพยากรแบ่งออกเป็น 2 ขั้วหลัก คือแบบกระจุกและรวมศูนย์ (Centralized) กับแบบกระจาย (Distributed) โดยในแบบกระจายเองยังสามารถแบ่งเป็นแบบแยกศูนย์ (Decentralized) และแบบกระจายเป็นเครือข่าย (Distributed network)
เมื่อนำปัจจัยขับเคลื่อนทั้งสองประการมาไขว้กันก็จะได้เป็นฉากทัศน์ของประเทศไทยใน พ.ศ. 2585 จำนวน 4 ฉากด้วยกัน ได้แก่
(1) ไทยติดหล่ม คือภาพอนาคตของประเทศไทยที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียนได้ ในขณะที่โครงสร้างอำนาจเหนือทรัพยากรก็ยังคงกระจุกตัวเช่นเดิม
(2) ไทยพ้นหล่ม คือภาพอนาคตที่ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ แต่ยังไปไม่ถึงการสร้างเครือข่ายที่จะนำไปสู่การปรับผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียน
(3) ไทยผลิบาน คือภาพอนาคตที่ประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและการบริโภคให้มีความยั่งยืนมากขึ้นได้ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชน แต่โครงสร้างอำนาจเหนือทรัพยากรยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนและชนชั้นนำ และ
(4) ไทยวิวัฒน์ คือภาพอนาคตที่พึงประสงค์สำหรับประเทศไทย เมื่อระบบการบริโภคและการผลิตสามารถปรับเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งอำนาจเหนือทรัพยากรก็กระจายสู่ชุมชนและประชาชนอย่างแท้จริง
จากฉากทัศน์ “ไทยติดหล่ม” ซึ่งใกล้เคียงกับสภาพการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันมากที่สุด ทางเลือกของประเทศไทยไปสู่อนาคตมีอยู่ 4 เส้นทางหลักดังนี้
เส้นทางที่ 1 “โศกนาฏกรรมไทย” (The Thai Tragedy) แสดงวิถีทางที่ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักและวงจรซ้ำซากจนสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมืองของประเทศแย่ลงไปอีก
เส้นทางที่ 2 “เครือข่ายขยายสายเขียว” (The Emerald Networks)
เส้นทางที่ 3 “ก้าวข้ามบันไดหยก” (The Jade Leap Forward) และ
เส้นทางที่ 4 “เปลี่ยนโฉมประเทศไทย” (The Thai Transformation)
แสดงเส้นทางจากสภาพปัจจุบันของประเทศไทยไปสู่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ คือ “ไทยวิวัฒน์” แต่ทั้งสามเส้นทางมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่แตกต่างกัน เส้นทางที่ 2 และ 3 สะท้อนการเปลี่ยนแปลงแนววิวัฒนาการแบบดุลยภาพเป็นช่วงๆ ซึ่งมีช่วงระยะยาวที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ตามด้วยช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้นๆ
ส่วนเส้นทางที่ 4 เป็นการเปลี่ยนผ่านแนวปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างรวดเร็วและในวงกว้าง เรามีเส้นทางรอดหลายเส้นทาง แต่จะรอดเร็วและรอดได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐ
ไม่ว่าประเทศไทยจะมุ่งหน้าไปสู่ฉากทัศน์ไหนและบนเส้นทางใด หลักการพื้นฐานสำคัญมีอยู่สองประการที่เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถลดเลี่ยงความเสี่ยงเชิงระบบและเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นตัวและตั้งหลักใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
หลักการแรก คือการรักษาและเพิ่มความหลากหลายของประเทศไทยทั้งในด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม วิธีคิด วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและการเมือง หลักการที่สอง คือความเป็นธรรมทั้งในการจัดสรรทรัพยากร และความเป็นธรรมเชิงกระบวนการในการตัดสินใจด้านทรัพยากรทุกมิติ รวมไปถึงความเป็นธรรมในการเปลี่ยนผ่าน (Just transitions)
จากหลักการข้างต้น การศึกษานี้จึงมีข้อเสนอแนวนโยบายกว้างๆ 4 ข้อที่เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นกับดักความคิดและวงจรการกระทำแบบเดิมไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ ไปพร้อมๆ กับการสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน และเตรียมพร้อมคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ได้แก่
(1) สานเสวนากติกาประชาคม (Deliberate & Regenerate) ซึ่งมุ่งสร้างเวทีของการปรึกษาหารือและเจรจาต่อรองได้อย่างเสรีและสันติ
(2) ดิจิทัลไทยแลนด์ (Digitalize & Revitalize) ซึ่งเน้นการยกระดับการเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับพลเมืองไทยได้อย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า
(3) กระจายอำนาจแบบเครือข่าย (Distribute & Redistribute) ซึ่งมุ่งสร้างระบบการอภิบาลด้วยเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นธรรมมากขึ้น และ
(4) รื้อสร้างประเทศไทย (Deconstruct & Reconstruct) ซึ่งมุ่งการปฏิรูประบบราชการ และระบบสำคัญอื่นๆ พร้อมยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการทางการเมืองทุกระดับและทุกรูปแบบ
คนไทยทุกคนสามารถช่วยกันสร้างทางรอด โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองในทุกมิติ ทุกระดับจากจุดที่ทุกคนยืนอยู่ ท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.khonthai4-0.net และขอให้ทุกท่านมีความสุขในปีใหม่ 2565 นี้นะคะ.