เงินเฟ้อที่สหรัฐจะเป็นเรื่องหลักในปี 2022 | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เศรษฐกิจและตลาดเงิน+ตลาดทุนของโลกในปี 2022 ผมเชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญลำดับต้นๆ คืออัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ไม่ใช่ Omicron (เว้นแต่จะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นที่อันตรายกว่าและแพร่ขยายได้เร็วกว่า Omicron)
ปี 2021 ที่ผ่านมานั้นถือได้ว่าเป็นปีที่ธนาคารกลางสหรัฐประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อผิดพลาดอย่างมาก เงินเฟ้อจริงที่สหรัฐสูงกว่าเป้าเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐถึง 2-3 เท่า
กล่าวคือเป้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ต่อปี แต่เงินเฟ้อที่สหรัฐหากวัดจาก CPI อยู่ที่ 6.8% ต่อปีในเดือนพฤศจิกายนและหากวัดจาก personal consumption expenditure inflation (PCE) ก็สูงถึง 4.7% ในเดือนเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐจะยึดถือ PCE มากกว่า CPI ในการประเมินสภาวะเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อที่สูงอย่างปฏิเสธได้ยากดังกล่าวทำให้เสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐหันมาสนับสนุนการปรับดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 10 ครั้งใน 3 ปีข้างหน้าคือ 3 ครั้งในปีนี้ 3 ครั้งในปีหน้าและ 2 ครั้งต่อปีในปี 2024 และ 2025 ทำให้คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐปรับขึ้นไปที่ 2.50-2.75% ภายใน 4 ปีข้างหน้า
การปรับดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าวนั้นเป็นไปในเชิงของหลักการที่คาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง (จีดีพีโตประมาณ 1.8-2.0% ต่อปี) และเงินเฟ้อสหรัฐค่อยๆ ปรับตัวลงเหลือประมาณ 2% ต่อปีตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป แต่ในความเป็นจริงนั้นผมยังไม่เคยเห็นการ ปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปยาวนานถึง 4 ปีมาก่อน
กล่าวคือประสบการณ์ในอดีตนั้นมักจะเห็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นช้าเกินไปในตอนแรก ทำให้คุมเงินเฟ้อไม่อยู่และต้องหันมาปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างเร่งรีบ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย เช่นในปี 1973 ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 6.0% เป็น 11.0% ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 1974-1975 จึงต้องรีบลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 6.5% ในเดือนเมษายน 1975
ต่อมาในปี 1978 ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 6.75% มาเป็น 20% ในเดือนธันวาคม 1980 แน่นอนว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงดังกล่าวและการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายที่สูงมากคือ 12-20% ถึงกลางปี 1982 ทำให้เกิดสภาวะถดถอยถึง 2 ครั้งในช่วง 3 ปีดังกล่าว
บางคนอาจตั้งประเด็นว่าสมัยนี้ (ศตวรรษนี้) แตกต่างจากเสมัยนั้นซึ่งผมเห็นด้วยในระดับหนึ่งเพราะเหตุผลหลัก 4 ประการคือ
1. นักเศรษฐศาสตร์และธนาคารกลางรับรู้และให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflationary expectations) หลุดลอยออกไปที่ระดับสูงเพราะเมื่อเสียงส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจว่าธนาคารกลางจะสามารถ “เอาเงินเฟ้อให้อยู่” เงินเฟ้อก็จะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นธนาคารกลางจึงมุ่นมั่นที่จะ “ตัดไฟแต่ต้นลม” กล่าวคือควบคุมเงินเฟ้อให้ได้เสียแต่เนิ่น
2. ประชากรในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศในยุโรป ตลอดจนญี่ปุ่นและจีนกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะทำให้แรงกดดันของเงินเฟ้อไม่สูงมากเช่นเมื่อ 60-70 ปีก่อนหน้า เพราะเมื่อประชากรแก่ตัวลงก็มักจะออมมากขึ้นจึงจะใช้จ่ายน้อยลง
3. ผมเชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 ทำให้มีแรงงานและทรัพยากรเข้ามาเพิ่มปัจจัยการผลิตให้กับระบบทุนนิยมตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยลดเงินเฟ้อลงได้นับสิบปี
และต่อมาในปี 2001 เมื่อประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ก็ทำให้จีนเป็นผู้ผลิตสินค้าราคาถูกให้กับโลกต่อไปอีกนับสิบปีเช่นกัน (แต่แรงงานในจีนกำลังปรับตัวลดลงทุกปีตั้งแต่ปี 2017 ทำให้ “ตัวช่วย” ส่วนนี้หมดลงไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐกับจีนกำลังเป็นคู่ปรปักษ์กัน)
4. พัฒนาการทางเทคโนโลยีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคือศักยภาพของอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม ฯลฯ ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้นทุนของการค้าส่งและค้าปลีก (disintermediation) แต่ดูเสมือนว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะไม่สามารถลดต้นทุนลงได้อีกมากนักใน 3-4 ปีข้างหน้า ตรงกันข้ามทั่วโลกอาจต้องยอมปรับใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (เช่นลดการใช้ถ่านหินและน้ำมันและหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ราคาแพงกว่า) เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวคือการปล่อยคาร์บอนซึ่งกำลังสร้างปัญหาโลกร้อน
ดังนั้นผมเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เงินเฟ้อในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้จะไม่ต่ำหรือปรับลดลงได้โดยง่ายเหมือนกับช่วง 10 ก่อนโควิด กล่าวคือคือเงินเฟ้อสหรัฐ (วัดโดยดูจาก CPI inflation) เฉลี่ยเพียง 1.8% ต่อปีในช่วง 2010-2019 ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารกลางสหรัฐกำหนดดอกเบี้ยนโยบายใกล้ศูนย์เกือบทุกปี
กล่าวคือเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยจริงติดลบอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ปี 2018 ที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 1.5% มาเป็น 2.5% ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาที่ 2.4% แต่ต่อมาก็ต้องรีบลดดอกเบี้ยเพราะเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว ตามมาด้วยการระบาดของโควิดในปี 2020
นอกจากนั้นก็ยังมีข้อสังเกตว่าในปี 2018 ที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้น 4 ครั้งนั้น ราคาหุ้นสหรัฐ (S&P500) ปรับตัวลดลง 4.4% (สำหรับ Bitcoin นั้นราคาปรับลดลงจาก 549,629 บาทในวันที่ 5 มกราคมมาปิดที่ 121,438 บาทในวันที่ 5 มกราคม 2019) ดังนั้นสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ จึงน่าจะไม่ค่อยถูกชะตากับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ 1% ต่อปีขึ้นไปครับ.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร