ปัญหาที่ทำให้ประเทศไม่มีอนาคต | บัณฑิต นิจถาวร
รายงานดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2021 ขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ชี้ว่าปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยแย่ลงต่อเนื่องและเลวร้ายแบบก้าวกระโดดปีที่แล้ว
รายงานดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2021 สะท้อนการทุจริตในภาครัฐที่รุนแรงขึ้น และชี้ถึงความอ่อนแอของภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่จะทำหน้าที่แก้ปัญหาเพื่อประเทศ ซึ่งจะมีผลอย่างสำคัญต่ออนาคตของประเทศ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในแง่ความสำเร็จของการบริหารประเทศ ประเทศในโลกแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำได้ดี ประเทศไปได้ดี มีผลให้คนในประเทศมีอนาคต และกลุ่มประเทศที่ทำไม่ได้ มีปัญหามาก
กลุ่มที่ทำได้ดี ประเทศไปได้ดี มีผลให้คนในประเทศมีอนาคตเพราะรัฐบาลของประเทศทำหน้าที่รัฐบาลได้อย่างครบถ้วน คือ ป้องกันประเทศ รักษากฎหมาย ให้บริการสาธารณะที่ดีเช่น การศึกษา สาธารณสุข ระบบช่วยเหลือสังคม และพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์และประเทศเป็นสังคมที่มีคุณภาพ
ส่วนกลุ่มประเทศที่ทำไม่ได้ มีปัญหามาก เพราะรัฐบาลหรือภาครัฐไม่ทำหน้าที่ ทำให้ประเทศเสียโอกาส ประชาชนได้รับผลกระทบมาก และกรณีรุนแรง สิ่งที่เห็นชัดคือประเทศจะไม่สงบ มีความขัดแย้งมาก เศรษฐกิจไม่มั่นคง และอนาคตของประเทศดูมืดมน
ในทางเศรษฐศาสตร์ ตัวแปรสำคัญที่จะชี้ล่วงหน้าว่าประเทศจะอยู่ในกลุ่มไหนในที่สุด คือ ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมี คือยิ่งมีคอร์รัปชันมากประเทศยิ่งจะโน้มไปกลุ่มสอง และถ้าน้อยประเทศก็สามารถไต่เต้าเป็นประเทศในกลุ่มแรก
ที่เป็นอย่างนี้เพราะคอร์รัปชันทำลายศักยภาพของประเทศที่จะเติบโต กระทบอนาคตคนในประเทศและสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่ตรงข้ามกลับใช้อํานาจที่มีทําเพื่อประโยชน์ส่วนตน
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐและคนในรัฐบาลใช้อํานาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่เพื่อประเทศหรือส่วนรวม การทำหน้าที่ของรัฐบาลในทุกมิติก็จะล้มเหลว ทำให้คนในประเทศไม่ได้ประโยชน์จากรัฐบาล ส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคมและอนาคตของประเทศ
รายงานดัชนีการรับรู้การทุจริตล่าสุดให้ข้อมูลว่า ประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อยสุดวัดจากดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2021 ยี่สิบประเทศแรกคือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฮ่องกง แคนาดา ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ เอสโทเนีย ออสเตรีย ออสเตรเลีย เบลเยียม และญี่ปุ่น นี่คือกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจและสังคมไปได้ดี ประเทศมีการพัฒนาต่อเนื่อง เป็นสังคมที่มีคุณภาพ คนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีอนาคต
เพราะรัฐบาลของประเทศทำหน้าที่รัฐบาลได้อย่างดี ส่งเสริมให้สถาบันของประเทศที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ เช่น สถาบันราชการ สื่อมวลชน ระบบยุติธรรม และสถาบันการเมือง ภาคเอกชนและประชาชนได้ประโยชน์ ส่งผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ
สำหรับยี่สิบประเทศท้ายแถวที่มีคอร์รัปชันมากสุดวัดจากดัชนีรับรู้การทุจริตปี 2021 ไล่จากอันดับแย่สุดขึ้นไป คือ ซูดานใต้ ซีเรีย โซมาเลีย เวเนซุเอลา เยเมน เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน ลิเบีย อิเควทอเรียลกินี เติร์กเมนิสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บุรุนดี ชาด ซูดาน นิการากัว เฮติ คอโมโรส กินี-บิสเซา คองโก และเอริเทรีย
นี่คือตัวอย่างที่สุดโต่งของประเทศในกลุ่มสองที่ทำไม่ได้ ประเทศมีปัญหามาก รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำหน้าที่ เอาแต่จะกอบโกยหาประโยชน์ รัฐบาลส่วนใหญ่จึงเป็นแบบอำนาจนิยม ประเทศไม่สงบ มีแต่ความแตกแยก ทำลายอนาคตคนในประเทศ
ที่ต้องตระหนักคือ การที่ประเทศจะอยู่ในกลุ่มหนึ่งหรือกลุ่มสองในที่สุดไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นข้ามคืน แต่เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ขึ้นอยู่การทำหน้าที่ของผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลว่าจะทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมให้ประเทศดีขึ้น หรือจะมุ่งแต่หาประโยชน์เพื่อตนเอง สะท้อนให้เห็นจากทิศทางและความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมี
แต่ที่แน่ๆ คือ พอประเทศผ่านจุดความสำเร็จไประดับหนึ่งเป็นประเทศในกลุ่มหนึ่ง โอกาสที่ประเทศจะเปลี่ยนเป็นประเทศในกลุ่มสองจะเกิดขึ้นยาก เพราะความเข้มแข็งของประชาชนและสถาบันในประเทศจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน ประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงต่อเนื่องก็จะมีเวลาเพียงระยะหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาการทำหน้าที่ของภาครัฐ ก่อนที่ประเทศจะไหลสู่จุดเลวร้าย กลายเป็นประเทศในกลุ่มสองที่อาจไม่มีวันหวนคืน
คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2021 ชี้ว่าคอร์รัปชันในภาครัฐของประเทศเรารุนแรงต่อเนื่อง และรุนแรงแบบก้าวกระโดดปีที่แล้ว แม้เป็นปีที่ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 คะแนนของประเทศในปี 2021 ทำได้เพียง 35 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ลดลงสามคะแนนจากคะแนน 38 ในปี 2020 อันดับของประเทศในดัชนีการรับรู้การทุจริตก็ร่วงเป็นอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ ลดลงจากอันดับ 104 ปีที่แล้ว
ถือเป็นการเสื่อมถอยแบบก้าวกระโดด เพราะตัวเลขที่ใช้ในการจัดทำดัชนีสะท้อนการรับรู้การทุจริตที่แย่ลงในหลายองค์ประกอบ เช่น การให้สินบนในกระบวนการทำธุรกิจ การใช้ทรัพยากรของรัฐ กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ
คำถามคือ ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเป็นประเทศในกลุ่มสองหรือไม่จากปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมี
คำตอบของผมคือมีความเสี่ยงมาก เพราะปัญหาคอร์รัปชันของประเทศเรารุนแรงขึ้นต่อเนื่องตลอด 15 ปีที่ผ่านมาและปีที่แล้วก็เป็นปีที่ 16 ที่ปัญหาแย่ลง ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มคอร์รัปชันที่เลวลงต่อเนื่องไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงจังของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่จะแก้ไขปัญหาและทำหน้าที่เพื่อลดการทุจริตในภาครัฐ
ต่างกับรัฐบาลในหลายประเทศในภูมิภาคที่ในอดีตมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงกว่าเรา อยู่ในอันดับการรับรู้การทุจริตที่ใกล้เคียงหรือแย่กว่าเรา เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม แต่ได้พยายามแก้ไขปัญหา ทำให้คะแนนในดัชนีการรับรู้การทุจริตดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2021 มาเลเซียได้ 48 คะแนน เวียดนาม 39 คะแนน อินโดนีเซีย 38 คะแนน เทียบกับไทย 35 คะแนน
ชี้ว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขได้ ทำให้ดีขึ้นได้ถ้ารัฐบาลจริงจัง บริหารประเทศให้รัฐบาลเป็น part of the solution คือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ไม่ใช่ part of the problem คือเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นตัวปัญหาเสียเอง.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]