คนมีโชคเพราะโชคดีหรือ | วรากรณ์ สามโกเศศ

คนมีโชคเพราะโชคดีหรือ | วรากรณ์ สามโกเศศ

“ขอให้โชคดี” “หมานๆๆ” “โชคดีนะเพื่อน” ข้อความที่พูดเพื่อขอให้มีโชคนี้ได้ยินกันทุกวัน เนื่องจากเชื่อว่าการมีโชคเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม จนต้องให้พรกัน

อย่างไรก็ดีมีนักวิชาการในโลกตะวันตกเชื่อว่า การมีโชคอยู่ในการควบคุมโดยขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความเชื่อ อุปนิสัยและพฤติกรรมของบุคคล  

ความโชคดีเป็นสิ่งที่มนุษย์พร่ำหามาตลอดประวัติศาสตร์     เมื่อ 4-5 พันปีก่อนคนอียิปต์โบราณใช้ซากแมลงปีกแข็งเป็นเครื่องรางของขลังเพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความโชคดี     สังคมตะวันตกนิยมใช้ขากระต่ายเล็ก ๆ เป็นตัวนำโชค   ไม่ว่าจะแขวนไว้ที่กระจกรถหรือใช้เป็นพวงกุญแจ

ความนิยมนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมจีนด้วยเพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการมีลูกดก  คนไทยนั้นยิ่งแล้วใหญ่     แขวนพระกันเพื่อคุ้มครองป้องกันภัย       ให้มีโชคลาภ   เกิดเมตตามหานิยม และอีกสารพัด ซึ่งล้วนแล้วก็เพื่อให้มีโชคทั้งสิ้น

ในปัจจุบันนักวิชาการศึกษาสังคมเชื่อว่าโชคมิได้เกิดอย่างสุ่ม ๆ       อย่างคาดคะเนไม่ได้ และอย่างอธิบายไม่ได้  หากการมีโชคเป็นผลพวงจากการเปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ และความกล้าที่จะเสี่ยง      Stephen Mark ได้พบจากการศึกษาว่าคนที่มองตนเองว่า เป็นคนโชคดีมีทางโน้มที่จะมีพฤติกรรมแตกต่างอย่างมากจากคนที่มองว่าชีวิตของตนเองประสบแต่ความไร้โชค   

คนโชคดีมีพฤติกรรมร่วมกันคือ มักมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำอยู่เป็นประจำ     หาสิ่งแวดล้อมใหม่ และเข้าสังคมกับคนอื่น ๆ อย่างกว้างขวางเสมอ     มีความคิดในด้านบวก   มีทัศนคติที่ดีต่อการกระทำสิ่งใหม่ ๆ    ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ และเกิดความกระตือรือร้นที่จะหาประโยชน์

พูดง่าย ๆ ก็คือ    การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำทำให้มีโอกาสพบสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น เป็นการเปิดตัวเองให้มีโอกาสต่างๆมากยิ่งขึ้น   เกิดศักยภาพสูงขึ้นที่จะได้รับสิ่งดี ๆ  ซึ่งก็คือการเปิดประตูรับโชคนั่นเอง

Richard Wiseman นักวิชาการอีกคนหนึ่งซึ่งเริ่มชีวิตด้วยการเป็นนักเล่นกลอาชีพ และมีโชคได้เรียนหนังสือสูงขึ้นจนเป็นนักวิชาการมีชื่อเสียง  เห็นว่าการมีโชคหรือการไร้โชคโดยพื้นฐานแล้วถูกกำหนดโดยอุปนิสัยของคน      

เขามีทฤษฎีว่าคนมีโชคมักมีทางโน้มเป็นคนประเภทมีบุคลิกเปิดเผย (extrovert) ซึ่งมักเกี่ยวพันกับการกระทำหลากหลายเรื่องจนทำให้มีศักยภาพสูงขึ้นในการได้รับผลลัพธ์ในด้านบวกหรือโชคนั่นเอง

สำหรับคนอับโชคนั้นมีทางโน้มที่จะเป็นคนเครียด    มีความกระวนกระวายใจมากกว่าคนมีโชค      เนื่องจากอุปนิสัยทำให้มีความสามารถในการมองเห็นโอกาสต่าง ๆ น้อยกว่าจนมีความสามารถในการหาประโยชน์จากมันได้น้อยกว่าตามไปด้วย    คนอับโชคมักมองโลกในด้านลบ ดังนั้นจึงมักมองประสบการณ์ที่ได้รับไปในด้านลบและมักคิดสงสารตนเองที่มีแต่ความผิดหวังอยู่เสมอ

นักวิชาการศึกษาสังคมพบว่า     เมื่อคนมีโชคประสบโชคร้าย หรือไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่ต้องการ   มักรักษาการมองโลกในด้านดีไว้ และสู้กับสิ่งไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ตนเองมี      พวกเขามีทางโน้มที่จะเป็นพวกมองเห็นน้ำเต็มครึ่งแก้ว (แทนที่จะเห็นว่าเป็นน้ำที่เหลืออยู่เพียงครึ่งแก้ว ) และพร้อมที่จะรับมือกับความล้มเหลวและเรียนรู้จากมันเสมอ

Wiseman  ทดสอบทางจิตวิทยากับผู้เข้าร่วมศึกษาโดยให้บรรยายความรู้สึกหากถูกยิงขณะมีการปล้น     กลุ่มคนมองโลกในแง่ดี (พวกมองเห็นน้ำเต็มอยู่ครึ่งแก้ว)  บรรยายว่าเป็นความโชคดีที่ไม่ถึงกับตาย    ส่วนพวกมองโลกด้านร้าย (พวกมองเห็นน้ำเหลืออยู่เพียงครึ่งแก้ว)  มองว่าตนเองตกเป็นเหยื่อและโชคร้ายที่ถูกยิง

Wiseman ศึกษาวิจัยเรื่องโชคเป็นเวลา 10 ปี กับคนอายุระหว่าง 18-84 ปี  รวม  400 คนทั้งหญิงและชายจากหลากหลายอาชีพและพื้นฐานชีวิต      ผลการศึกษายืนยันว่าคนมีโชคมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ตนเองต้องการ    

สรุปอุปนิสัยของคนมีโชคมีดังนี้   (1)  ตื่นตัวกับโอกาส และความเป็นไปได้    มีความสามารถในการสร้างโอกาสและมองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นเสมอ  (2)  ไว้วางใจสัญชาตญาณของตนเองและลงมือปฏิบัติ    (3)  ลงมือทำตามเป้าหมายในชีวิตของตนเอง   (4)  มีทัศนคติที่ยืดหยุ่นและพร้อมที่จะสู้ให้ฟื้นตัวกลับได้ (resilient attitude)กล่าวคือ   ยอมรับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและสู้กับความผิดหวังและวิกฤตการ และหาประโยชน์จากความโชคร้ายที่มาเยือน

ทั้งหมดนี้สามารถเอามาสรุปเพื่อหาทางเพิ่มความมีโชคได้ดังต่อไปนี้   

(1)  พูดว่า “ทำไมถึงจะไม่ใช่ฉันล่ะ”     เมื่อความโชคร้ายมาเยือน    อย่าโวยวายว่า “ทำไมถึงต้องเป็นฉันล่ะ”     จงยอมรับว่ามันเป็นบทเรียนชีวิต  คนมีโชคมักมีวิธีคิดที่ลดความร้ายแรงของโชคร้าย     โดยคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเลวร้ายกว่านี้ก็ได้  ที่เกิดขึ้นแค่นี้นับว่าเป็นโชคแล้ว 

(2)  ขยายวงสังคม     มีเพื่อนใหม่มากขึ้น     มีสังคมที่กว้างขึ้นเช่น เป็นอาสาสมัคร  เล่นกีฬา มีงานอดิเรก พบปะพูดจากับผู้คนหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม    การพบคนใหม่ ๆ จะทำให้ตนเองเปิดกว้างกับความคิดใหม่ๆ และประสบการณ์ใหม่  

(3)  ตอบรับบ่อยขึ้น     ตอบรับ คำเชิญที่อยู่นอก “comfort zone” (พื้นที่คุ้นเคยที่ทำให้สบายใจ) และทดลองสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารใหม่   สถานที่ท่องเที่ยวใหม่  ฯลฯ   (4)  ยิ้ม   คนไทยรู้จักดีและทำกันเป็นประจำมายาวนาน  มันเป็นประตูไปสู่มิตรภาพเสมอ  การยิ้ม ทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ยิ้มและผู้รับ

วัตถุดิบในวันนี้ได้มาจากข้อเขียนของ Gina Vild ; “How to Improve Your Luck” ในนิตยสาร   Psychology Today  เดือนกุมภาพันธ์ 2022    ตอนท้ายบทความ ผู้เขียนอ้าง Tennessee Williams   นักเขียนมีชื่อชาวอเมริกัน ที่เคยกล่าวไว้ว่า “Luck is believing you’re lucky.”  (การมีโชคมาจากการเชื่อว่าตนเองเป็นคนโชคดี) เพื่อสรุปว่าความมีโชคมิได้เกิดขึ้นนอกการควบคุม    หากขึ้นอยู่กับความเชื่อ ทัศนคติและอุปนิสัยของบุคคลนั้น ๆ     
               
อย่างไรก็ดีหลายคนอาจเห็นว่าสิ่งที่พบเชิงวิชาการนี้เป็นจริงในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง   การมีโชคขึ้นอยู่กับความบังเอิญและสิ่งที่อธิบายไม่ได้อีกมากเช่นจากการพบคนบางคน หรือจากการได้ยิน หรือการได้อ่าน หรือการรับทราบข้อมูลบางอย่างในจังหวะซึ่งนำไปสู่โชค  

แต่บางคนอาจโต้ว่าการได้พบสิ่งต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานี้ก็ล้วนเป็นผลพวงจากสิ่งที่นักวิชาการเหล่านี้ได้กล่าวถึงไว้คือให้พยายามเปิดกว้างให้ตนเองได้พบปะผู้คน พบสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เพื่อเปิดประตูรับโชคมิใช่หรือ

ไม่ว่าจะเชื่อว่า “คนโชคดีเพราะทำตัวให้โชคดี” หรือ “คนโชคดีเพราะบังเอิญมีโชค” ก็ตาม   ความจริงของการมีโชคอาจอยู่กึ่ง ๆ ระหว่างสองประโยคนี้ก็เป็นได้    

โอเค  ดังนั้นเราจงปรับตัวกันเพื่อให้เกิดโชคตามคำแนะนำของงานวิจัยของโลกตะวันตกพร้อมกับอธิษฐานและแขวนพระกันต่อไปครับ.