เปิดแนวคิด BEE ตัวชี้วัดใหม่ของธนาคารโลก | สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ในปี 2563 ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศ ในดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease Doing Business) หรือ EDB หลังจากนั้น ธนาคารโลกได้ยุติการจัดทำตัวชี้วัดนี้ไปหลังจากทำมาต่อเนื่องนับสิบปี
ล่าสุดธนาคารโลกได้เริ่มต้นพัฒนาแนวคิดใหม่เพื่อต้องการประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากดัชนี EDB โดยคาดว่าธนาคารโลกจะเผยแพร่ตัวชี้วัดและรายงานดังกล่าวออกมาในปี 2566
แนวคิดใหม่นี้ใช้ชื่อว่า “สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ” (Business Enabling Environment) หรือ BEE ซึ่งเป็นแนวคิดที่วิวัฒน์จากแนวคิดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ BEE ใช้มุมมองที่กว้างมากขึ้น และเป็นองค์รวมขึ้น รวมถึงเพิ่มมิติของเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืนอันเป็นแนวโน้มทางธุรกิจที่สำคัญเข้าไปด้วย
แนวคิดภาพรวมมองว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมต่างๆ กับหน่วยงานของรัฐ อาจพบกับกฎระเบียบที่ยุ่งยากและคาดเดาไม่ได้ ต้นทุนในการทำธุรกรรมครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงทั้งในแง่ของเวลาและเงินที่ต้องใช้สำหรับปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตลอดจนมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นด้วย
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในหลายประเทศมีจำนวนมากจน อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การว่างงาน ความยากจน จนถึงดุลงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว
การประเมิน “สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ” (Business Enabling Environment) เป็นความพยายามที่จะชี้วัดถึงบรรทัดฐานทางกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อหรือขัดขวางการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมทางธุรกิจด้วย
แนวคิด BEE ต้องการจะนำไปสู่นโยบายการพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนใน 3 ทิศทางที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ การเพิ่มความเท่าเทียมของโอกาสของผู้ประกอบการ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจ
กรอบแนวคิดของ BEE แบ่งเป็น 3 กระบวนการหลัก คือ การเริ่มต้นธุรกิจ การประกอบธุรกิจ และการสิ้นสุดธุรกิจ โดยมีปัจจัยเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมฝังอยู่ในทุกกระบวนการธุรกิจ ทั้งนี้ ใน 3 กระบวนการดังกล่าวจะแยกย่อยออกเป็น 10 มิติ
กระบวนการเริ่มต้นธุรกิจ ประกอบด้วย 2 มิติ คือ การเข้าสู่ภาคธุรกิจ (Business entry) และที่ตั้งทางธุรกิจ (Business location)
กระบวนการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย 7 มิติ คือ การเชื่อมต่อสาธารณูปโภค (Utility connections) แรงงาน (Labor) การบริการทางการเงิน (Financial services)
การค้าระหว่างประเทศ (International trade) การจัดเก็บภาษี (Taxation) การระงับข้อพิพาท (Dispute resolution) การแข่งขันของตลาด (Market competition)
กระบวนการสิ้นสุดธุรกิจ มี 1 มิติ คือ การล้มละลายของธุรกิจ (Business insolvency)
หากเทียบเคียงกับแนวคิด EDB ในเชิงกรอบแนวคิดและมิติตัวชี้วัดแล้วจะพบว่าแนวคิด BEE มีการต่อยอดจากแนวคิด EDB แต่ใช้มุมมองที่กว้างขึ้น รวมถึงมีการริเริ่มนำมิติใหม่ๆ ที่สำคัญต่อธุรกิจเข้ามา โดยแนวคิดใหม่ที่ไม่เคยปรากฏใน EDB มาก่อนหรือปรากฏอยู่แต่ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งได้เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในแนวคิด BEE ได้แก่ เรื่องการแข่งขันของตลาด (Market competition) และมิติแรงงาน (Labor)
สำหรับมิติการแข่งขันของตลาด (Market competition) เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ใน BEE จะพิจารณาถึงคุณภาพของกฎระเบียบที่ส่งเสริมการแข่งขันในตลาด ความเพียงพอของบริการสาธารณะที่ส่งเสริมการแข่งขันตลาด และประสิทธิภาพในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการแข่งขันของตลาด
โดยจะครอบคลุมการบังคับใช้นโยบายการแข่งขันทางการค้าและกฎระเบียบที่เน้นการปรับปรุงการแข่งขันในตลาดเอกชน รวมถึงในตลาดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐด้วย
ส่วนมิติแรงงาน (Labor) ประกอบด้วยคุณภาพของข้อบังคับด้านแรงงาน ความเพียงพอของบริการสาธารณะสำหรับตลาดแรงงาน และความยากง่ายในการจ้างแรงงาน โดยจะพิจารณาการทำงานของตลาดแรงงานจากมุมมองของทั้งบริษัทและพนักงาน รวมถึงนโยบายและกฎระเบียบ ตั้งแต่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไปจนถึงข้อบังคับในการจ้างงานและการเลิกจ้างแรงงาน
ในมิติทางธุรกิจอื่นๆ พบว่าแนวคิด BEE มีการต่อยอดในมุมมองที่กว้างขึ้นจาก EDB ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่ EDB พิจารณา “การขออนุญาตก่อสร้าง” ของธุรกิจ ก็ได้ขยายมุมมองใน BEE เป็นการพิจารณา “ที่ตั้งทางธุรกิจ” (Business location) ที่ครอบคลุมคุณภาพของกฎระเบียบการเช่าอสังหาริมทรัพย์ การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และการวางผังเมือง
นอกจากนี้ จากเดิมที่ EDB พิจารณา “การขอใช้ไฟฟ้า” ก็ได้ปรับเปลี่ยนใน BEE เป็น “การเชื่อมต่อสาธารณูปโภค” (Utility connections) ซึ่งครอบคลุมทั้งสาธารณูปโภคทั้งประเภทน้ำ ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น
ในมิติการค้าระหว่างประเทศ (International trade) ได้เพิ่มการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าที่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย รวมถึงเริ่มพิจารณาถึงการค้าบริการระหว่างประเทศ เป็นต้น
ที่ผ่านมา ตัวชี้วัด EDB เป็นตัวชี้วัดหลักตัวหนึ่งซึ่งรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลได้นำมาใช้ประกอบการดำเนินนโยบาย จนทำให้ประเทศไทยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก
ในปีหน้า คาดว่าจะมีการออกรายงานตัวชี้วัด BEE นี้ ซึ่งน่าจะสร้างความท้าทายและเพิ่มแรงกดดันต่อภาครัฐมากขึ้นในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อ BEE เพิ่มมิติการแข่งขันของตลาดและมิติแรงงานเข้ามาพิจารณา ซึ่งผลการประเมินของประเทศไทยไม่ว่าจะออกมาดีหรือแย่กว่าประเทศต่างๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมในการพัฒนาให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของการตั้งคำถามถึงสภาพการแข่งขันในตลาดและการผูกขาดธุรกิจของไทยในปัจจุบัน.
คอลัมน์ : คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
ณฐนภ ศรัทธาธรรม
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
www.facebook.com/thailandfuturefoundation/