ไอเดียบรรเจิดอย่าเก็บไว้ ชวนระเบิดพลังสร้างสรรค์ใน 'ประกวดศิลปกรรม ปตท. 2566'
คนรักศิลปะเชิญทางนี้! มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์โชว์ศักยภาพพลังศิลปะของคนไทยในกิจกรรมการ ประกวดศิลปกรรม ปตท. 2566 พร้อมชิงเงินรางวัลสูงสุด 200,000 บาท และได้รับสิทธิ์ในการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์
อีกหนึ่งเวทีที่โชว์พลังสร้างสรรค์ของคนไทยกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง กับการ "ประกวดศิลปกรรม ปตท. ประจำปี 2566" โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันจัดงานต่อเนื่องมายาวนานเป็นครั้งที่ 38 แล้ว เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนไทยทั้งระดับเยาวชนและระดับประชาชนทั่วไป ได้เข้าร่วมประกวดผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ภายใต้หัวข้อ "จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต" ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ศิลปินทุกระดับมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสนับสนุนการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยให้ก้าวไกลไปมากกว่าที่เคย
สำหรับหัวข้อการประกวด "จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต" ของปีนี้ มีแนวคิดมาจากฉากทัศน์ของสถานการณ์ การระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ได้ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งโลกไปโดยสิ้นเชิง แต่หลังจากวิกฤติโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไป ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ก็ค่อยๆ กลับมาฟื้นฟูประเทศในมิติต่างๆ แม้หลายภาคส่วนจะบอบช้ำจากวิกฤติดังกล่าวมาเยอะ แต่ก็ยังเห็นภาพว่าทุกคนมีกำลังใจฮึดสู้กันอีกครั้ง มีการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ และมีความหวังที่จะสู้ต่อไปในอนาคตที่แม้ว่าอาจจะมีผันผวนสูงทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและโรคระบาดรออยู่ก็ตาม
จากฉากทัศน์ดังกล่าวจึงนำมาสู่หัวข้อในการประกวดผลงานศิลปะที่อยากให้ศิลปินทุกคนได้สะท้อนถึงภาพแห่งการ "จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต" ของสังคมไทยและสังคมโลก ที่กำลังต่อสู้อย่างมีความหวัง ที่จะก้าวข้ามผ่านวิกฤติโรคระบาดและเศรษฐกิจครั้งนี้ไปให้ได้ โดยเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยทุกระดับอายุได้เข้ามาโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะเป็นระดับเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทุกคนสามารถร่วมถ่ายทอดโดยเล่าความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ชีวิตในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาไปด้วยกัน พร้อมความหวังในการขับเคลื่อนไปสู่อนาคต ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจดหมายเหตุของประเทศ ทั้งนี้ ผลงานที่จะร่วมส่งเข้าประกวดนั้น สามารถผลิตออกมาได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลงานประเภทจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์ และผลงานสร้างสรรค์ทางด้านทัศนศิลป์อื่นๆ
สำหรับเงินรางวัลแบ่งเป็นสองระดับคือ ระดับเยาวชนและระดับประชาชนทั่วไป ได้แก่ ระดับเยาวชนกลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี มอบรางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล 10,000 บาท และรางวัลดีเด่น 5 รางวัล รางวัลละ 7,000 บาท ขณะที่กลุ่มอายุ 9 - 13 ปี มอบรางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัล 15,000 บาท และรางวัลดีเด่น 5 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ด้านกลุ่มอายุ 14 - 18 ปี มอบรางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัล 20,000 บาท และรางวัลดีเด่น 5 รางวัล รางวัลละ 15,000 บาท
ส่วนระดับประชาชนทั่วไป แบ่งเป็นรางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล เงินรางวัล 200,000 บาท และรางวัลดีเด่น 5 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท รวมถึงได้รับสิทธิ์ในการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ภายใต้เงื่อนไขที่ ปตท. กำหนด
ผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวด สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ 2 แบบ คือ 1) ส่งทางไปรษณีย์ โดยส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผลงานจะต้องส่งถึงจุดรับผลงานไม่เกินวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เท่านั้น และแบบที่ 2) ส่งมาที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000 เท่านั้น หมายเลขโทรศัพท์ 096-782-0748 ส่งผลงานด้วยตัวเองได้ที่ ชั้น 1 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งวิธีนี้ให้ส่งได้ระหว่างวันที่ 12 - 18 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 - 16.00 น.
ส่วนการตัดสินผลงานการประกวด ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 ท่าน จะร่วมกันคัดเลือกและตัดสินผลงานทั้งหมดในวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566 จากนั้นจะมีการประกาศผลการตัดสินอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ทาง ptt และสื่อช่องทางอื่นๆ ตามที่ ปตท. กำหนด
หลังจากนั้นจะมีพิธีมอบรางวัลและนำผลงานที่ชนะการประกวด (ประเภทบุคคลทั่วไป) ไปจัดแสดงผลงาน ณ บ้านเจ้าพระยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม ปตท. โทร. 0 2537 1388 และหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร. 09 7242 9333