IRPC ดึงเสน่ห์พืชผลท้องถิ่น จ.ระยอง สู่เมนู Chef’s Table ดันท่องเที่ยวเชิงอาหาร
IRPC ต่อยอดศูนย์เรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานสวนยายดา "เจ๊บุญชื่น" IRPC Smart Farming จ.ระยอง ดึงเสน่ห์พืชผลท้องถิ่น ยกระดับเมนูสู่ Chef’s table โดยเชฟ 5 ดาว ภายใต้คอนเซ็ปต์ Chef’s Table : From farm to function ดันการท่องเที่ยวเชิงอาหาร
ศูนย์เรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานสวนยายดา "เจ๊บุญชื่น" IRPC Smart Farming จังหวัดระยอง เป็นโครงการของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากเกษตรกร นักท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน หลังเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 โดยนำเอาจุดแข็งขององค์กร ทั้งนวัตกรรมและองค์ความรู้ บูรณาการเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างประโยชน์ให้ชุมชนชาวระยองและเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ในปีนี้ IRPC มุ่งสานต่อความสำเร็จ โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของเกษตรกรและพืชผักผลไม้ของจังหวัดระยองที่มีรสชาติดีเป็นที่ยอมรับ และสามารถต่อยอดให้เป็น การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ได้ ผ่านวัฒนธรรมการกิน และการอนุรักษ์มรดกอาหารของท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวในมุมมองที่หลากหลาย ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจและการดำเนินงานของชุมชนรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเสน่ห์ของพืชเกษตรชนิดต่างๆ ของจังหวัดระยอง สามารถต่อยอดสร้างคุณค่า และพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนและเกษตรกรได้ ทาง IRPC จึงรังสรรค์เป็นเมนูอาหาร ภายใต้คอนเซ็ปต์ Chef’s Table : From farm to function โดยเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตไปสู่ธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยว นำเอาผลผลิตจากภาคเกษตรทั้งในและนอกฤดูกาลมาพัฒนาเป็นเมนูอาหารวัตถุดิบจากสวน โดยมี "เชฟบิว" หรือ ภูเตโช กาญจนกิจติกูล ซึ่งมีความเข้าใจวัฒนธรรมและวัตถุดิบพื้นบ้านของชาวจังหวัดระยองและมีประสบการณ์ในการทำงานขับเคลื่อนทางด้านอาหาร มาร่วมสร้างสรรค์อาหารกับเครือข่ายเกษตรกร Smart Farming เพื่อพัฒนาเป็น "เมนูใหม่พิเศษเพื่อคุณ" ทั้งเมนูสุขภาพ เมนูอาหารเป็นยา เป็นต้น
สำหรับเมนูที่น่าสนใจ ประกอบด้วย เมนูเครื่องดื่มช่วงหน้าร้อน อาทิ ม็อกเทลมังคุดอัญชัน การนำมังคุดมาบีบคั้นในแบบกรรมวิธีดั้งเดิม คงรสชาติให้ได้มากที่สุดผสมกับน้ำอัญชัน โดยอัญชันและมังคุดมีคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ ด้านเมนูขนมหวาน เช่น มูสทุเรียนยายดา รสชาติหวาน มัน ส่วนเมนูอาหารคาวเบาๆ อาทิ สลัดผลไม้ปลาแห้ง กระทงทองไก่ทุเรียน เมนูนี้เชฟตั้งใจรังสรรค์จากผลไม้แบบผสมผสาน มาจัดเสิร์ฟเป็นสลัดแบบไทยโบราณ เพื่อเพิ่มความสดชื่นและคลายร้อน และยังช่วยให้เจริญอาหารได้อีกด้วย
นายกฤษณ์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2566 IRPC ได้พัฒนาโครงการทดสอบผลิตภัณฑ์ซิงค์ออกไซด์นาโน "ปุ๋ยหมีขาว" สูตรใหม่ โครงการ "คลินิกหมอดิน" ศูนย์กลางการเก็บตัวอย่างดินเพื่อการวิจัยและพัฒนา วิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดิน ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ย หรือธาตุอาหารได้เหมาะสม รวมถึงมีแผนการที่จะติดตั้ง "พาราโบลาโดม" โรงตากแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้พัฒนาสินค้าชุมชน เช่น พริกไทยตากแห้ง กล้วยตาก สมุนไพรอบแห้ง และประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ตากเปลือกมังคุด เพื่อนำมาบดเป็นผงใช้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และพัฒนาออกแบบตราสัญลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ชุมชน
สำหรับนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ IRPC นำมาบูรณาการเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่ม เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในสวนยายดา เจ๊บุญชื่น ประกอบด้วย
- ปุ๋ยหมีขาว นวัตกรรมเทคโนโลยี นาโนซิงค์ออกไซด์ ธาตุอาหารเสริมทางใบสำหรับพืชในระดับนาโนเมตร ด้วยอนุภาคขนาดเล็กทำให้แทรกซึมเข้าสู่ใบพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และด้วยความเข้มข้นระดับสูง ทำให้ใช้ในปริมาณที่น้อย มีประสิทธิภาพสูง จึงช่วยให้ประหยัดต้นทุนของเกษตรกร
- คลินิกหมอดิน สาธิตวิธีการวิเคราะห์หาธาตุอาหารในดิน โดยเกษตรกรผู้ชำนาญเรื่องดิน “มานัด โพธิ์แก้ว” (หมอดินประจำพื้นที่) ร่วมกับนักวิจัย IRPC ซึ่งในการตรวจสอบคุณภาพดิน จะทำให้ทราบว่าดินมีการขาดธาตุอาหารใด เกษตรกรจะได้ให้ปุ๋ยเฉพาะในส่วนที่ดินขาด เป็นการลดต้นทุน และทำให้ดินไม่เสีย
- โซลาร์ลอยน้ำ ขนาด 5 กิโลวัตต์ ออกแบบและติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้ในการเพาะปลูก และเป็นต้นแบบแก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจ โดยทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ IRPC เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE สีเทาที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น มีความปลอดภัยต่อระบบนิเวศน์ใต้นํ้า สามารถรีไซเคิลได้ มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี
- การปลูกและฝังเข็มทุเรียน สาธิตการฝังเข็มทุเรียนด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์ ช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อราที่เกิดภายในลำต้น ช่วยให้ต้นกลับมาแตกแขนง แทงยอดอ่อน และกลับมาสมบูรณ์ พร้อมให้ผลผลิตในฤดูกาลต่อไป
ทั้งหมดนี้ สอดรับกับความมุ่งมั่นของ IRPC ในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักความสมดุลของการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้องค์กรและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ตรงตามวิสัยทัศน์ "IRPC สร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต"