กลุ่ม ปตท. โชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำอนาคต ในงาน PTT Group Tech & Innovation Day
กลุ่ม ปตท. โชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำอนาคต ในงาน PTT Group Tech & Innovation Day มุ่งเป้าปรับสัดส่วนรายได้ 30% จากธุรกิจลดคาร์บอน ภายในปี 2573 ชู 3 หัวหอกสำคัญ "เทคโนโลยี-คน-เงินทุน" ทางรอดธุรกิจใหม่ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในพิธีเปิดงาน PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Beyond Tomorrow : นวัตกรรม นำอนาคต" โดยมี ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจาก กลุ่ม ปตท. หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนชั้นนำร่วมในพิธี ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "โอกาสของประเทศไทยกับทิศทางพลังงานใหม่มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน" ว่า ปัจจุบันกติกาโลกเปลี่ยนแปลงไปจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ได้หารือและเตรียมทิศทางให้เกิดโอกาสการลงทุนในธรุกิจใหม่ๆ มาตลอดหลายปีภายใต้การประกาศเป้าหมาย Net Zero ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยง แต่ก็ยังมีข้อดี เพราะสามารถนำสิ่งใหม่ๆ กลับมาสร้างประโยชน์สู่ประเทศไทยได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยจึงมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำคือ ความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นการลงทุนให้กลับมา เพราะเห็นสัญญาณที่ดีจากปี 2565 แล้ว ว่ามียอดการขอจดทะเบียนลงทุนใหม่ที่ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งไทยเคยทำสูงสุดที่ปีละ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น เป้าหมายคือ การทำให้ยอดกลับมาสู่จุดที่เคยสูงสุดอย่างเช่นในอดีตให้ได้ โดยแนวทางที่จะผลักดันให้เกิดผลดีอย่างชัดเจนมีด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้
- ทำให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่แถวหน้า ประเทศได้ดูแลประชาชนด้วยความห่วงใย
- หันมาใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิล เนื่องจากในช่วงที่มีปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับราคาพลังงาน และประเทศไทยที่ปัจจุบันมีการนำเข้าน้ำมันถึง 80-90% ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ 30% จึงได้รับผลกระทบไปด้วย
- ทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงเกิดการร่วมลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตจากธุรกิจใหม่ๆ ได้ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิต จึงทำให้ประเทศไทยยังพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศถึง 30% ดังนั้น จึงต้องวางแผนให้มีการดึงฐานการผลิตกลับมาทั้งอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ กลุ่มแบตเตอรี่ ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์อีกครั้ง เพื่อมุ่งสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งาน PTT Group Tech & Innovation Day จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ. 66 – 3 มี.ค. 66 เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญเพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี และการลงทุนด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ตลอดจนสร้างการรับรู้ทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต และหาโอกาสต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ทั้งจากภายในกลุ่ม ปตท. และหน่วยงานภายนอก พร้อมทั้งผลักดันการสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่างๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
1. นิทรรศการ แสดงผลงานทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และธุรกิจใหม่จาก กลุ่ม ปตท. ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Future Energy, Future Mobility, Life Science, AI, Robotics & Digitalization, Logistics & Infrastructure, Decarbonization และ Innovation Ecosystem ที่มีส่วนในการช่วยสร้างสรรค์และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์จากวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากระบบการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน
2. Tech Talk เวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด และเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรมที่น่าจับตาจากภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายและผู้นำด้านนวัตกรรมกว่า 23 หัวข้อ
3. Pitching Desk พื้นที่นำเสนอนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของ กลุ่ม ปตท. กว่า 30 แบรนด์ ที่พร้อมให้นักลงทุนและผู้สนใจได้ร่วมพูดคุย ต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงานไปด้วยกัน ตลอดจนจะได้พบกับสินค้านวัตกรรมที่พร้อมให้ ช้อป ชิม จากกลุ่ม ปตท. อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจาก Innobic, น้ำเชื่อมหญ้าหวาน Natural Nxt, อาหารโปรตีนจากพืช NRPT, ไอศกรีมกะทิสดแท้ Kathisod Station และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจาก MORE
"กลุ่ม ปตท. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเป็นที่ยอมรับทั้งในภูมิภาคอาเซียนและเวทีโลก พร้อมขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคตได้ต่อไป" นายอรรถพล กล่าว
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวทีสัมมนา Tech Talk วันที่ 1 มี.ค. 66 งาน PTT Group Tech & Innovation Day หัวข้อ "แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่และนวัตกรรมของปตท. เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย" ว่า ภายใต้เป้าหมายการประกาศเจตนารมณ์ของ กลุ่ม ปตท. ถึงประเด็นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้มีการดำเนินงานที่เห็นเป็นภาพชัดเจนแล้วหลายด้าน โดย ปตท. เองก็ได้ประกาศปรับสัดส่วนรายได้ภายในปี 2573 จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 30% และในปี 2576 เพิ่มสัดส่วนลดการปล่อยคาร์บอนลงอีกกว่า 50% โดยลดธุรกิจฟอสซิลและเพิ่มนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้เป็นบริษัทที่เติบโตบนเทคโนโลยี และคนอยากมาอยู่ในปตท. ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอี พาร์ทเนอร์ธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลายธุรกิจของ ปตท. ที่เน้นดำเนินงานภายใต้การดูแลการปล่อยคาร์บอนนั้นสามารถสร้างรายได้ หรือทำกำไรให้กับบริษัทฯ ได้แล้ว อย่างเช่นการลงทุนใน "บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด" ก็เริ่มเห็นความชัดเจนทั้งเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเรื่องของแบตเตอรี่ โดยปี 2567 จะสามารถรับจ้างผลิตได้ที่ 5 หมื่นคัน
ขณะที่ "บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด" เพิ่มทุนจดทะเบียนแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และได้ไปร่วมทุนกับ "บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical)" บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน ก็สามารถทำตลาดได้ดี และในปี 2565 โลตัส ฟาร์มาซูติคอล มียอดขายที่ 15,000 ล้านบาท ทำกำไรได้เกือบ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จคือ นโยบายภาครัฐและการขับเคลื่อนไปพร้อมกับเอกชนที่ไปในทิศทางเดียวกัน รับฟังซึ่งกันและกัน และอีกสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนด้วย Passion and Purpose ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมี 3 ส่วนสำคัญ นั่นคือ 1) เทคโนโลยี 2) ทุน และ 3) คน ซึ่งวันนี้ Purpose พร้อมแล้ว แต่อาจจะขาดนักลงทุนที่มีแพสชันซึ่ง ปตท. โชคดีที่มีความชัดเจนทั้ง 2 เรื่อง
"ซีอีโอของปตท. เมื่อวันที่เข้ามารับตำแหน่งได้ขับเคลื่อนองค์กรและเปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond จากการที่ปตท. ประสบความสำเร็จในยุค 3.0 ที่เป็นผู้นำองค์กรสำคัญให้กับประเทศได้ดีแล้ว พอมีในยุค 4.0 ก็ต้องตัดสินใจทำเรื่องใหม่ๆ และมองเทรนด์การดำเนินธุรกิจอนาคต" นายบุรณิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องของเทคโนโลยีสำคัญจะต้อง Sense of Urgency และ Strategic focus ถือว่าอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่นำเสนอ สะท้อนเทรนด์อุตสาหกรรมโลก ถือเป็นความได้เปรียบที่ ปตท. ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ปตท. ก็ต้องเร่งดำเนินการ ดังนั้นจึงต้องหาพันธมิตรในรูปแบบ Partnership and Platform ซึ่ง กลุ่มปตท. ใช้วิธีนี้เพื่อเร่งความเร็วและสิ่งสำคัญคือ Open Innovation เพื่อบรรลุเป้าหมายได้โดยเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อ Accelerate Scale อีกทั้งการทำสิ่งต่างๆ จะต้องมีเงินทุน โดยปตท. ได้สนับสนุนในด้านนี้อย่างจริงจัง
"เรา ทาเลนต์ โมบิลิตี้ และหาฟิวเจอร์สกิล ซึ่งแต่ก่อนทำเรื่องปิโตรเคมี ต่อไปจะต้องมีวิศวกรไฟฟ้าด้านสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คนปตท. ในสถาบันนวัตกรรมกว่า 100 คน ได้ออกมานอกห้องวิจัย ทำเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จนสามารถพัฒนาฟิวเจอร์สกิลจนตั้งบริษัทสตาร์ทอัพได้แล้ว" นายบุรณิน กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ อยากฝากในเรื่องของการใช้ยุทธศาสตร์ทั้ง เทคโนโลยี คน และเงินทุน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการรวมพลังของคนทั้งประเทศ เริ่มตั้งแต่ระดับภาครัฐ และเอกชน ส่วนระดับบริษัทจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทจนถึงพนักงาน กลุ่มปตท. ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพื่อที่จะทำให้เติบโต ถ้าไม่ทำจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ดังนั้น ความสำเร็จหลักจะอยู่ที่คน และต้องยอมรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อให้เห็นปัญหาและทางออกของปัญหา หากทำผิดพลาดก็ต้องให้กำลังใจ ถ้าล้มก็จับมาแต่งตัวปัดฝุ่นใหม่และก้าวต่อไปพร้อมกัน