“ลมใต้ปีก” ธุรกิจสีเขียว บทบาท HSBC กับ “การเงินยั่งยืน”
“Green” คือ สีเขียวซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นธรรมชาติ และความยั่งยืน ที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่กำลังเริ่มให้ความสำคัญจะด้วยเหตุผลจิตสำนึกรักธรรมชาติหรือด้วยเงื่อนไขและข้อบังคับทางธุรกิจก็ตาม
แต่หน่วยสนับสนุนทางธุรกิจที่สำคัญที่เป็นเหมือน “ลมใต้ปีก” อย่างสถาบันการเงินก็มีทิศทางให้บริการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ซูรันทรา โรชาร์ ประธานบริหารร่วมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC)
ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าแผนการขยายบริการของธนาคารในลำดับสำคัญที่สุดคือ “การพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน” ซึ่งเกือบทุกครั้งที่ได้หารือกับลูกค้าจะมีการยกประเด็นความยั่งยืนมาเป็นเรื่องแรกๆ ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายลูกค้าเองก็ต้องการข้อมูล และแผนความช่วยเหลือธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืนเช่นกัน
“เรื่องClimate Change ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งเป็นผลจากคลื่นความร้อน พายุ น้ำท่วม และเรื่องเหล่านี้ไม่มีพรมแดนเหตุการณ์เกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่งแต่ผลกระทบก็เห็นได้ในที่อีกแห่งหนึ่ง ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นเรื่องสำหรับทุกคน”
ในส่วนของHSBCได้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายรูปแบบและยังมีความร่วมมือต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสังคมและธุรกิจที่ยั่งยืน เช่น ความร่วมมือกับกลุ่มเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมองว่าสำหรับประเทศไทยซึ่งมีบทบาทเด่นในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจการลงทุนในไทย ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จาก HSBC Navigator: SEA in Focus ที่ทำการสำรวจบริษัท 1,500 แห่งจากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 6 แห่ง เช่น จีน สหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมนี ในส่วนของประเทศไทยเมื่อถามถึงการพิจารณาประเด็นด้านความยั่งยืนก็พบว่า ทั้งภาครัฐและประชาสังคมในไทยต่างให้ความสำคัญต่อเรื่อง ESG : Environment, Social, Governance โดยประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ ที่มีการเปิดตัว Sustainability Bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เมื่อส.ค.2563 นับเป็นการย้ำภาพที่รัฐบาลไทยตอบรับประเด็นESG ขณะที่ภาคสังคมวงกว้างการสำรวจพบว่าธุรกิจไทยในสัดส่วน 4 ใน 5 ต้องการใช้เงินไปกับในธุรกิจที่มีภาพของความยั่งยืนอุดหนุนอยู่ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนของธุรกิจจากต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจระหว่างประเทศหลายแห่งมองว่าประเทศไทยมีบทบาทหลักเรื่อง ESG และความพยายามสู่ Net Zero ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 22% เห็นว่าเป็นความน่าสนใจที่จะขยายธุรกิจมาที่ไทยขณะที่ธุรกิจมีแผนขยายธุรกิจในไทยอย่างมาก ทำให้ไทยเป็นจุดหมายการขยายธุรกิจ จากปัจจัยนักท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ช่วยให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
“เป็นหน้าที่ของธนาคารที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้ ในส่วนของภาคประชาคมโลกต้องมีส่วนช่วยให้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืน ซึ่งลูกค้าของเรามีความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านจาก Brown ไปสู่ Green Economy”
จอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร HSBC ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารมีบริการที่ครอบคลุมต่อความต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะเป็น การบริการต่างๆ เช่น เงินฝากสีเขียว , พันธบัตรสีเขียว และสีสำคัญคือ การเงินเพื่อห่วงโซ่อุปทานสีเขียว
(Sustainable Supply Chain Financing (SCF))ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่มีบทบาททั้งการเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าทำให้ธุรกรรมทางการเงิน และความเชื่อมโยงต่อซัพพลายเชนมีความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน และการเป็นธุรกิจสีเขียวที่แท้จริงเป็นสิ่งสำคัญ ขอยกตัวอย่างกรณีลูกค้ารายหนึ่งเมื่อ 12 เดือนก่อน ซึ่งบริษัทไทยแห่งนี้ต้องการออกกรีนบอนด์ แต่เมื่อประเมินโดยรวมแล้วก็พบว่ายังไม่ผ่านมาตรฐานระดับสากลด้านความยั่งยืน (Global standard) จึงแนะนำให้ชะลอแผนออกไปก่อน จนกว่าจะผ่านมาตรฐาน
“เราอยากให้การขยายตัวเพิ่มของลูกค้ากลุ่มกรีน เพราะถ้ายิ่งมีจำนวนมากเป้าหมายสังคมที่ยั่งยืนก็จะสำเร็จได้ เราต้องขยายจาก 50 เป็น 100 เป็น 1,000 แต่จำนวนไม่สำคัญเท่าคุณภาพถ้าไม่ได้มาตรฐานก็จะแนะนำให้ลูกค้าชะลอไปก่อน"
ทั้งนี้ ยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันมีผลต่อการพิจารณาการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนเพราะต้องมีการลงทุนเพิ่มหลายส่วน ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินอย่างเราที่จะต้องช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ในภาพรวมมองว่าในอนาคตต้นทุนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงเพราะเมื่อมีดีมานด์จำนวนมากขึ้น ต้นทุนก็จะลดลงตามสัดส่วนความต้องการใช้งาน เช่น โซลาร์เซลล์ที่ปัจจุบันมีราคาลดลงมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์