ทูตพาณิชย์ชี้ยุคเปลี่ยนการค้า ยุโรปมุ่งหน้าสู่ Green Economy
กลุ่มประเทศในฝั่งยุโรปมักมีการเคลื่อนไหวที่จะเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลก ซึ่งการขับเคลื่อนล่าสุดว่าด้วย “การดูแลสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน”
ประคัลร์ กอดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในยุโรปให้ความสำคัญ 3 ประเด็นหลักได้แก่ สิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพ และสวัสดิภาพของสัตว์
ดังนั้นสินค้า และบริการที่เกี่ยวข้องจึงหันหาให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในส่วนของภาครัฐของประเทศต่างๆ ในยุโรปจึงได้ออกระเบียบเพื่อควบคุมการผลิตการจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่มาของ Green Economyนั่นเอง
ด้านความเคลื่อนไหวของภาครัฐ ล่าสุดเมื่อ ก.ค.2564 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้กำหนดแผนงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงเพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 – 2.0 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ และในปี 2050 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Net Zero โดยมุ่งเป้าหมายหลัก 3 ด้าน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Circular Economy) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ (Carbon Neutrality) และสิ่งแวดล้อมปลอดสารพิษ (Toxic Free Environment )
แผนงานดังกล่าวเรียกว่า European Green Deal โดยได้มีการออกกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติ เช่น การปรับปรุงสิทธิการซื้อขาย และปล่อยก๊าซเรือนกระจก การคมนาคมสีเขียว การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทยถือได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับ Green Economy อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐทั้งจากส่วนกลางที่ใช้ช่องทางการเจรจาทั้งการจัดทำเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังดำเนินการเจรจา รวมถึงการจัดการเจรจากับสหราชอาณาจักรภายหลังจากการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปผ่านการประชุม JETCO (Joint Economic and Trade Committee) เพื่อหาช่องทางขยายการค้า และขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงประเด็น Green Economy ด้วย
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพได้แก่ อาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เช่น โปรตีนที่ทำจากแมลง อาหารที่ทำจากพืช Plant Based Food ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขันทั้งในด้านราคา และคุณภาพ
นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้าน รวมถึงเสื้อผ้า ซึ่งรวมเรียกว่ากลุ่มไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีดีไซน์ และใช้วัสดุเหลือใช้นำมาใช้ใหม่ วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เก้าอี้ หรือโซฟาที่ทำจากไม้ที่สามารถตรวจสอบที่มาว่ามีการปลูกทดแทน ก็เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพที่จะเจาะตลาดยุโรป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้กำหนด แผนการส่งเสริมตลาด Green Economy ได้มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถนำเสนอสินค้าในกลุ่มนี้ได้ในตลาดโลก โดยในส่วนของภูมิภาคยุโรป ได้จัดกิจกรรมนำเสนอสินค้าที่มีศักยภาพ ทั้งในส่วนของอาหาร ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหารเพื่ออนาคต Future Food โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Plant Based Food ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าในกลุ่ม BCG (Bio Circular Green) เช่น การนำผู้ส่งออกสินค้า BCG ในกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน เช่น การเข้าร่วมในงานแสดงสินค้า Design London
"การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลให้ผู้บริโภคในยุโรปยิ่งมีความตื่นตัวประเด็นสิ่งแวดล้อม และการรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น แน่นอนภาครัฐของยุโรปจะต้องมีกฎระเบียบเพื่อรับมือกับสถานการณ์มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็จะต้องปรับตัวให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยหลายรายสามารถปรับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการนำเสนอสินค้า และบริการที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น"
ยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่มีกฎระเบียบด้านการค้าที่เข้มงวดอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของผู้บริโภค ประเด็นสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ การเข้าทำการค้าส่งออก ไปยุโรปจึงจะต้องปฏิบัติตามระเบียบเหล่านั้นอย่างเข้มงวด ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้นับเป็นประเด็นที่ไม่ใช่แค่ยุโรปเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ ตลาดหลักอื่นของไทย เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และรวมถึงจีน ต่างให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ และปรับตัวให้สามารถนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคให้ได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์