MSME สีเขียว ใน BCG Model เพื่อความยั่งยืน
ในช่วงการประชุมผู้นำ APEC 2022 รัฐบาลได้ชูเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ บีซีจี โมเดล (BCG Model หรือ Bio Economy, Circular Economy และ Green Economy) BCG Model สำคัญอย่างไร ต่อวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย (MSME)
เนื่องจากนโยบายภาครัฐกำลังส่งเสริมอุตสาหกรรม 4 กลุ่มธุรกิจ S-curves ประกอบด้วย 1.การเกษตรและอาหาร 2. พลังงานและวัสดุเคมีชีวภาพ 3. สุขภาพและการแพทย์ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนั้น MSME ควรศึกษาและให้ความสำคัญกับ BCG Model เพราะจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มขนาดใหญ่ให้กับประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจของตน เมื่อใดที่ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม MSME ได้รับการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ภาครัฐก็จะมีนโยบายช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อผลักดันโครงการผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ทำให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าว มีโอกาสเติบโตในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง
MSME สีเขียวควรส่งเสริมให้มีบุคลากร 3 แบบ ซึ่งประกอบด้วย 1. นวัตกรเชิงนิเวศน์ (Eco-innovators) 2. ผู้ประกอบการเชิงนิเวศน์ Eco-entrepreneurs และ 3. ผู้ปฏิบัติเชิงนิเวศน์ (Eco-adopters) โดยแต่ละแบบจะมีหน้าที่ในทางปฏิบัติแตกต่างกัน แต่หนึ่งคนสามารถปฏิบัติได้มากกว่าหนึ่งหน้าที่ ในความเป็นจริงผู้ประกอบการเชิงนิเวศน์สามารถ และมักจะเป็นนักประดิษฐ์เชิงนิเวศน์
Eco-innovator ผู้ประกอบการ MSME มักมีส่วนร่วมในนวัตกรรมเชิงนิเวศน์หมายถึง เป็นผู้ที่นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว หรือกระบวนการผลิตที่ได้รับการพัฒนา วิธีการทำการตลาดแบบใหม่ การปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การปรับโครงสร้างองค์กร และการประสานงานกับองค์กรภายนอก
Eco-entrepreneurs ผู้ประกอบการเชิงนิเวศน์จะแตกต่างจากผู้ประกอบการทั่วไปด้วยเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และแรงจูงใจ เพราะผู้ประกอบการเชิงนิเวศน์จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ ความยั่งยืน
จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการเชิงนิเวศน์นั้นอาจจะไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดการดำเนินกิจการ เพราะปัจจัยอื่นเข้ามาเปลี่ยนความตั้งใจ เช่น สถานภาพทางการเงิน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ประกอบการเชิงนิเวศน์เปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้ประกอบการทั่วไปในบางเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ ในขณะนั้น ผู้ประกอบการบางรายพบว่าการรักษา “ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นเรื่องยาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูงในการดำรงผู้ประกอบการสีเขียว หรืออาจจะมีการปรับแผนการดำเนินกิจการเล็กน้อย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และความอยู่รอดของกิจการ
Eco-adopters ผู้ปฏิบัติเชิงนิเวศน์เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของ MSME กล่าวคือ เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบาย มากกว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มแนวทางใหม่ๆ
จุดสำคัญที่เห็นเด่นชัดสำหรับผู้ปฏิบัติเชิงนิเวศน์คือ ผู้ประกอบการ MSME ไม่ค่อยดำเนินการแบบองค์รวม และแนวทางการจัดการแบบบูรณาการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะปฏิบัติตามทีละขั้นเนื่องจากมีค่ายใช้จ่ายสูงหากดำเนินการเต็มรูปแบบ อีกนัยหนึ่งคือ ผู้ประกอบการ MSME เป็นเพียงผู้ที่อยู่ปลายน้ำของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนำมาลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยจะไม่กระทบต่อโครงสร้างหลักในการดำเนินกิจการ
เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ดำเนินกิจการในรูปแบบ BCG Model ผู้ประกอบการ MSME ก็สามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ผู้ประกอบการ MSME สามารถเป็นผู้ประกอบสีเขียวได้หากมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และพวกเขาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และการช่วยเหลือ ภาพที่สำคัญที่จะต้องเห็นให้ชัดเจน คือ โอกาสในการสร้างรายได้และโอกาสในการขยายธุรกิจ
การเป็นผู้ประกอบการสีเขียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในบางช่วงของกระบวนการดำเนินกิจการจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม อาจจะทำให้เกิดการชะลอตัวหรือหยุดระหว่างทาง ดังนั้น เราควรมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน เพราะ MSME แรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อให้การดำเนินกิจการในรูปแบบของ BCG Model มีความต่อเนื่อง เราต้องสร้างผู้ใช้ในระบบ ได้แก่ 1. นักประดิษฐ์เชิงนิเวศน์ (Econ-innovators) 2. ผู้ประกอบการเชิงนิเวศน์ Eco-entrepreneurs และ 3. ผู้ปฏิบัติเชิงนิเวศน์ (Eco-adopters) ซึ่งผู้ใช้ทั้ง 3 กลุ่ม อาจจะมีการสลับปรับเปลี่ยนบทบาทได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสิ่งแวดล้อม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์