พลังที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก…เปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้

พลังที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก…เปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้

การฟื้นฟูและปกป้องสิ่งแวดล้อมนับเป็นวาระสำคัญของโลก เห็นได้จากการให้สัตยาบันของผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งในเวทีสหประชาชาติที่ตั้งเป้าจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายในปี 2573

 

หรือในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ก็ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ภายในปี 2593 การตื่นตัวในระดับประเทศดังกล่าวส่งผ่านมายังภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องปรับโมเดลธุรกิจสู่

 การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้กฎระเบียบการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance : ESG) แต่เมื่อหันมามองธุรกิจของคนตัวเล็กหรือ SMEs พบว่ายังไม่เห็นสัญญาณการตื่นตัวที่ชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากความคิดที่ว่าการปล่อยคาร์บอนมาจากธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

โดยข้อมูลของ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ระบุว่า SMEs ทั่วโลกปล่อยของเสียจากภาคอุตสาหกรรมถึง 40-64% และปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจถึง 50-70% ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ SMEs ต้องหันมาปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอันดับต้น ๆ ของ SMEs ทั่วโลกในการปรับธุรกิจให้เป็นสีเขียวคือ ความกังวลถึงต้นทุนที่สูงขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจจากหลายหน่วยงานทั้งในเกาหลีใต้ เยอรมนี และแคนาดา นอกจากนี้ การขาดองค์ความรู้และเครื่องมือในการยกระดับธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ ทั้งนี้ แม้การปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของ SMEs ผมขอแชร์ไอเดียเบื้องต้น ดังนี้

  • Description: EXIM_name7 Green Mindset “ปรับหลักคิด โตอย่างยั่งยืน” หลายคนอาจมองว่าการลงทุนปรับธุรกิจให้เป็นสีเขียวจะเพิ่มต้นทุนและลดผลกำไรของกิจการ แต่หากประเมินในระยะกลาง-ยาว พบว่าหลายบริษัทมีต้นทุนลดลงและผลประกอบการดีขึ้น จากผลสำรวจของ OECD ชี้ว่ากลุ่มบริษัทตัวอย่างใน EU ที่ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่ามีต้นทุนการผลิตลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 23% เช่นเดียวกับผลสำรวจของ United Nation Environment Programme (UNEP) ระบุว่ากลุ่มบริษัทตัวอย่างที่นำเทคโนโลยีมาช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะเติบโตเฉลี่ยถึง 15% สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภคยุคใหม่ที่มักซื้อสินค้าและบริการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสอดรับกับ Global Value Chain ของบริษัทขนาดใหญ่ที่กำหนดให้ Supplier ต้องผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
  • Green Model “สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ จับมือกับผู้เชี่ยวชาญ” การปรับธุรกิจสู่ Low Carbon ทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการผลิตไปจนสินค้าถึงมือผู้บริโภค ทั้งการจัดการวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต การใช้พลังงาน และการขนส่ง นอกจากนี้ สำหรับผู้ส่งออกต้องเร่งปรับตัวสู่ “Green Exporter” เพื่อผ่านเกณฑ์ภายใต้มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมากถึง 17,000 ฉบับทั่วโลก โดยสินค้าแต่ละประเภทสร้าง Carbon Footprint ไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ
  • Green Money “เติมเงินทุน ยกระดับสู่ Low Carbon” ผลสำรวจจาก SME Climate Hub ระบุว่า 48% ของ SMEs ทั่วโลกขาดเงินทุนที่จะใช้ปรับธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สถาบันการเงินต่าง ๆ จึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจสีเขียว

โดยเฉพาะธนาคารของรัฐที่เข้ามาปิดช่องว่างทางการเงินแก่ SMEs เช่น ในฝรั่งเศส OSEO ซึ่งเป็นกองทุนและ Investment Bank ของภาครัฐ สนับสนุนเงินทุนระยะยาว อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และปลอดหลักประกัน เพื่อให้ SMEs ลงทุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือในมาเลเซีย Credit Guarantee Corporation ช่วยค้ำประกันให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการลดคาร์บอน สำหรับประเทศไทย EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาของประเทศมุ่งมั่นเป็นพี่เลี้ยงแก่คนตัวเล็กให้ยกระดับสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยบริการครบวงจร ตั้งแต่การให้คำแนะนำ การเสริมองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจแบบ Low Carbon ไปจนถึงสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว รวมถึงมีผลิตภัณฑ์เฉพาะ เช่น Solar Orchestra เงินทุนเพื่อติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมเชื่อมโยง Ecosystem ตลาดคาร์บอน ตลอดจนเตรียมพัฒนากลไกสร้างแรงจูงใจให้ SMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

            สุดท้ายนี้ ผมขอให้กำลังใจและให้ความมั่นใจกับท่านผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่านว่า “พลังของคนตัวเล็ก สามารถเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้” ขอเพียงมีความตั้งใจและลงมือทำจริงครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK