บีไอจี โชว์ Climate Technology จากไฮโดรเจน บนเวที Future Energy Asia 2023
บีไอจี โชว์ Climate Technology จากไฮโดรเจน มุ่งเป้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในการลดการปล่อยคาร์บอน บนเวที Future Energy Asia 2023
บีไอจี ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) โชว์เทคโนโลยีไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ ร่วมแบ่งปันความคืบหน้าเกี่ยวกับ CCUS และไฮโดรเจน โดยร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปตท. สผ. ในงานนิทรรศการและการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานระดับภูมิภาคเอเชีย Future Energy Asia 2023 มุ่งเป้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization)
Future Energy Asia 2023 เป็นงานที่มีการรวมตัวของกลุ่มบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมพลังงาน นำโดย กระทรวงพลังงาน เพื่อร่วมกำหนดและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพลังงานของภูมิภาค ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในการเสวนาหัวข้อ "CCUS Consortium Progress Update and CCUS Project Collaboration" ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี ร่วมกับ ศ.ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพงษ์กิตต์ ลักษมีพิเชษฐ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอนและพลังงานไฮโดรเจน ปตท. สผ. ร่วมแบ่งปันความคืบหน้าของโครงการเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้ประโยชน์ (CCUS) ในประเทศไทยที่เกิดจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำและมีการลงนามความร่วมมือไปเมื่อปีผ่านมา โดย บีไอจี ผลักดันและให้ความสำคัญกับการผลิตและใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ ซึ่งแอร์โปรดักส์ (Air Products) บริษัทแม่ของบีไอจีในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำนวัตกรรมการใช้ไฮโดรเจนเพื่อความยั่งยืน และการผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีการลงทุนไปแล้วกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฮโดรเจนเพื่อประโยชน์ในการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) การใช้เป็นแหล่ง พลังงานสะอาด สำหรับในภาคอุตสาหกรรม และการใช้ไฮโดรเจนในการขับเคลื่อนยานยนต์ (Hydrogen for Mobility : H2fM) ทั้งรถยนต์ รถบัส รถไฟ รถบรรทุก รถโฟล์คลิฟท์ (Forklift) เพื่อตอบรับแผนด้านพลังงานของชาติ มุ่งหน้าสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในอนาคต