“นวัตกรรมรีไซเคิล”ตัวช่วยธุรกิจ เร่งเครื่องรับเทรนด์ความยั่งยืน
“ขยะ” เป็นสิ่งของที่เหลือใช้แต่อาจไม่ไร้ประโยชน์อีกต่อไป เมื่อ“นวัตกรรม”กำลังจะทำให้ขยะกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการเกิดใหม่ของสินค้าที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม พบว่าขยะส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่ผ่านการคัดแยกทำให้การ “รีไซเคิล” ที่เป็นทางเลือกเพื่อการลดปริมาณขยะ และสร้างสิ่งใหม่จากขยะนั้น กลายเป็นแนวทางที่ท้าทายสำหรับเป้าหมายความพยายามรักษ์โลก-ลดขยะทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกด้วย แต่ปัญหาดังกล่าวจะไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป เมื่อสถานการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน หรือบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจ ปี 2565 ที่มีมูลค่า 252,400 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าในช่วงปี 2566 ถึง 2573 น่าจะมีการขยายตัวที่ 5.8% จากปัจจัยความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน
ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกได้เน้นไปที่การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Sustainable Packaging) และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable Packaging) ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายทั่วโลกต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยต้องมีทั้งความสวยงาม และตอบสนองการใช้งานได้ และคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ทั้งนี้ การรีไซเคิลที่เห็นส่วนมากคือ พลาสติกที่ได้มีการนำมารีไซเคิลมากกว่าการผลิตใหม่ จาก Polyethylene Terephthalate (PET) มีความใสใกล้เคียงกับขวดแก้ว แต่น้ำหนักเบา เหนียว ทนทาน และยืดหยุ่นต่อแรงกระแทก สามารถนำมาขึ้นรูปได้หลากหลาย นำกลับมารีไซเคิลเป็นเส้นใยพลาสติกได้
ขณะที่ ถุงบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันมีการใช้ฟิล์มหลายชั้นในการบรรจุอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมีประเภทที่แตกต่างกัน จึงทำให้ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ จึงมีนวัตกรรมใหม่โดยใช้ชนิดพลาสติกเดียวกันในการทำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถคงประสิทธิภาพการใช้งานได้เหมือนเดิม เป็นการลดการใช้ทรัพยากรและทำให้ราคาสินค้าและต้นทุนถูกลงอีกด้วย โดยเน้น การใช้วัตถุดิบน้อยลง และใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายไม่ต้องมาแยกชิ้น เป็นการลดขั้นตอนทำให้ต้นทุนในการแยกขยะได้น้อยลง
นอกจากนี้ ในปัจจุบันนั้นยังมีนวัตกรรมใหม่คือ การใช้ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่มีส่วนผสมหลักในการผลิตคือ พืช หรือก็คือ เป็นพลาสติกที่ทำมาจากพืชอย่างอ้อย และข้าวโพด แต่การผลิตนั้นต้นทุนที่สูง และยังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทยมากนักในปัจจุบันจึงใช้วิธีรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ลดการสร้างพลาสติกมาเพิ่มจำนวน
“รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้สามารถรีไซเคิลเม็ดพลาสติกได้แล้ว สามารถใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุเครื่องดื่ม และอาหารได้อีกด้วย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพลาสติกคือ ศัตรูของสิ่งแวดล้อม แต่ในทางกลับกันปริมาณพลาสติกกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้พลาสติกได้มีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณการผลิตเพิ่ม รวมถึงการส่งเสริมการรีไซเคิลให้ง่าย และมากขึ้นได้ด้วย ”
ศิลปรัตน์ กล่าวอีกว่า นวัตกรรมเพื่อลดการใช้วัตถุดิบในการผลิตก็เป็นอีกแนวทางการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การพัฒนาแก้วน้ำหนักเบา เพื่อลดการใช้วัตถุดิบซึ่งทำให้เกิดความคุ้มทุนมากขึ้นและประหยัดพลังงานในการผลิต สามารถลดมลพิษและภาวะโลกร้อนได้
“การขนส่งที่เติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้มีการใช้กล่องในการบรรจุสินค้า และส่งออกเป็นจำนวนมาก จึงเกิดนวัตกรรมกล่องบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาใหม่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้โดยการลดปริมาณการใช้กระดาษลง และใช้กระดาษรีไซเคิลแต่ยังคงสภาพกล่อง และการบรรจุได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากกล่องปกติทั่วไป สามารถลดการใช้เทปกาวที่จะติดกล่องบรรจุภัณฑ์รวมไปถึงราคาที่ถูกลงในการซื้อกล่องอีกด้วย”
แม้ธุรกิจและผู้บริโภคกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันคือ “ความยั่งยืน” แต่ในมุมมองของภาคธุรกิจกับการรีไซเคิลของประเทศไทยยังมีข้อท้าทาย และข้อจำกัดอยู่เป็นจำนวนมากโดยการแยกขยะที่ไม่ค่อยเป็นไปตามระเบียบ และยังไม่ค่อยสะอาดเท่าที่ควร
มีเศษอาหารปนเปื้อนทำให้มีการแยกขยะก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลทำได้ยาก เกิดเป็นต้นทุนสำหรับการคัดแยก และส่งต่อไปถึงต้นทุนการผลิตทำให้สินค้าจากการรีไซเคิลมีราคาสูง เป็นอุปสรรคให้ครองส่วนแบ่งตลาดยากขึ้น
“ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกมาก ในเรื่องของต้นทุนยังมีต้นทุนที่สูงอยู่เนื่องจากยังได้รับความนิยมที่น้อยแต่ในอนาคตคนเริ่มให้ความสนใจจะเกิด Economies of scale ทำให้ต้นทุนถูกลง นอกจากนี้ยังต้องการความชัดเจนนโยบายทางการเมืองด้วย”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์