Photo & Story เศรษฐกิจ“นาเกลือ”ภูมิปัญญา ที่ไม่ได้มีดีแค่ความเค็ม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตเกลือทะเล การผลิต 2565/66 ตามโครงการส่งเสริมการจัดตั้งและบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อมูลเอกภาพ
ซึ่งส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตเกลือทะเล ซึ่งการลงพื้นที่ดังกล่าว
เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีการทำนาเกลือทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปัตตานี เกษตรกรทำนาเกลือ รวม 712 ราย
โดยการทำนาเกลือของเกษตรกรส่วนใหญ่จะแบ่งเนื้อที่ในแปลงนาเกลือออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วยส่วนที่ 1นาขัง หรือ นาวังส่วนที่ 2นาตาก นาประเทียบ หรือ นาแผ่ส่วนที่ 3นารองเชื้อส่วนที่ 4นาดอกหรือนาเชื้อ และส่วนที่ 5คือ นาวาง นารื้อ หรือ นาปรง ทั้งนี้ นาแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนที่หนึ่งนาขัง หรือ นาวัง จะมีพื้นที่ มากที่สุด และอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลมากที่สุดเพื่อความสะดวกในการระบายน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ สำหรับนาในส่วนอื่นๆ จะแบ่งเนื้อที่ใกล้เคียงเท่าๆ กัน โดยฤดูกาลผลิตจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย.ไปจนถึงเดือนพ.ค.ของปีถัดไป
ขณะที่ราคาจำหน่ายเกลือทะเลที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเดือน ม.ค. - มิ.ย. 2566 ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเกลือขาวราคา 4,125 บาทต่อเกวียน (2,578 บาทต่อตัน)เกลือกลางราคา 3,352 บาทต่อเกวียน (2,095 บาทต่อตัน) และเกลือเหมายุ้งราคา 2,430 บาทต่อเกวียน (1,518 บาทต่อตัน) ด้านการจำหน่ายผลผลิต พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อผลผลิต ณ ยุ้งฉางเกลือ โดยการจำหน่ายผลผลิต มี 2 แบบ คือ การจำหน่ายแบบแยกเกรด (แบ่งเกรดเป็นเกลือขาว เกลือกลาง และ เกลือดำ) และการจำหน่ายแบบเกลือคละ