เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกับประเด็น ความเสี่ยงของประเทศเกษตรกรรม
ตอนบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 29 มิ.ย. 2023 ผมเปิดอ่านอัปเดตเรื่องราวในโซเชียล แล้วนิ้วก็ปัดผ่านข้อความในทวิตเตอร์ของ UPSIDE foods หนึ่งในสตาร์ตอัปแนวหน้าของวงการเนื้อสัตว์จากแล็บกล่าวว่า “ส่งแล้ว! ออเดอร์แรกสุดของเนื้อไก่เพาะเลี้ยง (จากแล็บ) จาก UPSIDE
ส่งแล้ววันนี้ที่บาร์เครนน์ (Bar Crenn)”
ข้อความนี้ทำให้ผมตื่นเต้นจนอดใจไม่ไหวต้องกดรีทวีต ผมเป็นแฟนตัวยงของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเนื้อสัตว์สังเคราะห์ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง และเนื้อสัตว์จากแล็บมาเนิ่นนาน นี่คือ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่อาจจะพลิกโฉมวงการปศุสัตว์ไปตลอดกาล
เป็นที่รู้กันว่าประเด็นโลกร้อน โลกรวนส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ตรงกันข้ามกับขนาดประชากรของโลกที่ค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
หลังจากที่พยายามมาเนิ่นนาน ในที่สุด เนื้อสัตว์ from lab to table ของสองบริษัท UPSIDE และ Eat Just ก็ผ่านด่านอรหันต์ ทั้งองค์การอาหารและยา (Food & Drug Administration, FDA ) และกระทรวงเกษตร สหรัฐ (USDA) จนได้รับอนุมัติให้เปิดขายได้แล้วในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 21 มิ.ย.2023
แม้ว่าสหรัฐจะไม่ใช่ที่แรกที่เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้รับอนุมัติให้ออกวางตลาดได้ แต่คือ เป็นก้าวสำคัญในการเปิดศักราชใหม่ที่น่าจับตามองของวงการอาหารที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาด้วยวิธีจากแล็บ และการเปิดตัวครั้งแรกที่บาร์เครนน์ หนึ่งในร้านอาหารของโดมินิก เครนน์ (Dominique Crenn) เชฟฝรั่งเศสชื่อดังระดับมิชลินสามดาว ถือเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจของ UPSIDE
เพราะนอกจากจะได้เชฟดังมารังสรรค์ปรุงเนื้อไก่เพาะเลี้ยงอย่างสร้างสรรค์จนได้รสสัมผัสที่ซับซ้อนแต่ลงตัวแล้ว ราคาอาหารในร้านที่ขึ้นชื่อลือชาว่าสมกับจำนวนดาวที่เชฟเคยได้ ยังช่วยทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงส่วนต่างของราคาต้นทุนเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่ยังสูงกว่าราคาตลาดอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าเทียบกับเนื้อไก่ที่วางขายทั่วไปใน Farmer market หรือร้านสะดวกซื้อ และยังอาจมีผลทางจิตใจ ให้รู้สึกว่าเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากเซลล์นั้นเป็นเกรดพิเศษออกแนวไฮโซนิดนึง พอเป็นกิมมิกให้คนอยากไปลองชิม ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะมีพวกนักชิม และอินฟลูเอนเซอร์เข้าไปจัดอย่างแน่นอน และนั่นจะทำให้ทีม UPSIDE และโดมินิกได้ฟีดแบคที่ดีหรืออย่างน้อยก็มีประโยชน์ในการเอาไปวิจัยและพัฒนาต่อได้อีก
แม้ว่าจุดมุ่งหมายหลักของทีมในการสร้างเนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ในระยะต้นนี้อาจจะไม่ได้โฟกัสลงไปที่การสร้างรสชาติ เนื้อสัมผัสที่แปลกใหม่ หรืออาหารที่มีฟังก์ชันพิเศษจะเน้นไปที่การเลียนแบบ กลิ่น สี รส และเนื้อสัมผัสให้เหมือนกับของไก่จริงๆ นั่นคือ เนื้อไก่จากแล็บ จะต้องมีรสชาติเหมือนกับเนื้อไก่จากฟาร์ม!
เพราะถ้ารสชาติหรือเนื้อสัมผัสมันต่างกันมาก บางทีอาจมีแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่มั่นใจในเทคโนโลยี และยังยึดติดอยู่กับรสชาติของไก่จากฟาร์ม
การทดลองตลาดครั้งนี้ยิ่งใหญ่ เพราะจะทำให้เราได้รู้ถึงประเด็นข้องใจ รวมถึงการยอมรับของผู้บริโภคเกี่ยวกับเนื้อสัตว์จากแล็บที่มาจากเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งข้อมูลพวกนี้น่าจะช่วยชี้ทางให้ทีมวิจัยและพัฒนาสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นต่อไปได้ตรงความต้องการของผู้คนส่วนใหญ่ได้ดียิ่งกว่าเดิม
การเปิดตลาดสหรัฐซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ของเนื้อสัตว์จากเซลล์จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ยิ่งใหญ่ในวงการอาหารที่กระทบกระเทือนหลายประเทศที่ผูกโยงระบบเศรษฐกิจเอาไว้กับการเกษตร และปศุสัตว์ ว่าถ้าไม่ยอมเริ่มขยับแล้วตามเทคโนโลยีให้ทัน อนาคตคงบอกยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะงานนี้ ชัดเจนว่าอาจจะมีใครบางคนที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง
อัปเดต : วันที่ 30 มิ.ย. 2023 เชฟโดมินิกเปรยออกมาแล้วว่าเมนูเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงสำรับแรกของเธอจะเป็นเนื้อไก่จากแล็บขอบ UPSIDE เอามาทอดในแป้งเทมปุระที่ผสมกับน้ำพริกเผาพื้นถิ่นที่มาจากแถบยูกาตันในเม็กซิโก ที่เรียกว่า เรคาโดเนโกร (Recado Negro) โรยหน้าให้สวยงามด้วยน้ำมันอัลยอลิพริกเผา (burnt chili aioli) แล้วตกแต่งด้วยบรรดาดอกไม้กินได้ และผักใบเขียวที่ส่งตรงมาจากฟาร์มของเธอ เวลาเสิร์ฟจะเสิร์ฟบนน้ำแข็งแห้งในผอบสีดำวาดลวดลายพื้นเมืองของเม็กซิโก และประทับตราสัญลักษณ์ร้านของเธอ พอเวลาจะทาน เปิดฝาออกมาจะเห็นไอของน้ำแข็งแห้งบางเบาค่อยๆ ไหลโรยตัวลงมารอบๆ ไก่เทมปุระสีสันสดใสที่ยั่วตาล่อใจให้ลิ้มลอง
ทว่า แม้จะมีการแง้มๆ เมนูออกมายั่วน้ำลายฟู้ดดี้แล้ว แต่โดมินิกก็ยังขออุบไว้ไม่ยอมเปิดเผยให้ชัดว่าเมนูนี้จะออกมาเสิร์ฟจริงๆ เมื่อไร แต่คาดว่าน่าจะเร็ว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์