WHA Group เปิดเเผน “ECO System” แห่งความยั่งยืน ยึด ESG ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ “Tech Company” ในปี 2567
“ความยั่งยืน” คือ เป้าหมายของประชาคมโลก และประเทศไทย เพื่อทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ซึ่งหลักการ ESG (Environment, Social, Governance) ได้รับการยอมรับที่จะนำมาใช้บริหารจัดการสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ใน 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ (UN)
สำหรับภาคธุรกิจแล้ว หลักการ และเป้าหมายดังกล่าว หากนำมาปรับใช้ไม่เพียงได้สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสังคม และประเทศโดยรวมอีกด้วย
ณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าว่าดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทำงานบนหลักการในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเพื่อสังคมโดยตลอด ซึ่งเมื่อนำเอา SDGs มาเป็นแนวทางให้กับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ทำอยู่ จะทำให้เกิดภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดไอเดียว่าต้องทำส่วนใดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุด
“เรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างจริงจัง เราจะรอจนเกิดวิกฤติไม่ได้ และจะต้องร่วมมือกันทำทั้ง ECO System”
ก่อนอื่นขอเริ่มต้นที่เรื่อง “น้ำ” ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้จัดทำโครงการ Wastewater Reclamation คือ การรีไซเคิลน้ำทิ้งจนได้คุณภาพ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่โดยจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งใน และนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำเสีย โดยมีการปรับสภาพน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียมาผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) เป็นการช่วยลดปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเป็นการประหยัดการใช้น้ำดิบได้มากเทียบเท่าการใช้น้ำของครัวเรือนราว 2 แสนคน และมีเป้าหมายจะเพิ่มให้ได้มากถึง 5 แสนคน ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การรีไซเคิลน้ำจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงได้วางแผนการนำไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) มาใช้ในกระบวนการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) นำไปสู่โปรเจกต์ใหม่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ภายใต้ชื่อ โครงการเทอร์ควอยซ์ (Turquoise) ซึ่งโครงการนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ
“ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจ ต้องมีการบริหารจัดการที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดขององค์กรนั่นคือ การเติบโตอย่างยั่งยืน และต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเป็นหลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ผู้ถือหุ้น นักลงทุน คู่ค้า หน่วยงานภาครัฐ ลูกค้า ฯลฯ และที่สำคัญลูกค้าของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ส่วนใหญ่จะเป็น บรรษัทข้ามชาติ (Multi-National Corporation) โดยมีสัดส่วนราว 80% ซึ่งมีเป้าหมายในการมุ่งเน้นเรื่อง ESG ในการดำเนินงานอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น ลูกค้ารายใหม่เวลามาซื้อที่ดินในนิคมฯ ของเรา ก็จะสอบถามตลอดว่าสามารถจัดหา RE ได้ทั้ง 100% หรือไม่”
นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในโลกที่ได้ทำการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน หรือ Peer-to-Peer Energy Trading โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่เข้าร่วมเป็น Clean Energy Trader จำนวน 23 ราย ทั้งนี้ระบบต่างๆ ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเเล้ว เหลือแค่การได้รับอนุมัติกฎระเบียบต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งโครงการซื้อขายพลังงานแบบ P2P นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประหยัดค่าใช้จ่าย และลด Carbon Emission
“จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นระบบนิเวศน์เดียวกัน ซึ่งดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีความเป็นกลางทางคาร์บอนไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 เพราะเรามีธุรกิจ RE ที่ชดเชยการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเกินกว่าปริมาณคาร์บอนที่เราปล่อยอยู่แล้ว แต่ต้องมองไปถึงลูกค้า ถ้าเราทำทั้ง ECO System ก็จะมี Synergy ในการดำเนินการมากยิ่งขึ้น”
การจัดการเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเพียงบันไดขั้นแรก โดยดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050 ตามหลัก Science-based Targets คือ ถ้ามีการปล่อยคาร์บอนเท่าไร ต้องดูดกลับเท่านั้น โดยมี 2 ทางหลักๆ คือ Nature-based เช่น การปลูกป่าไม้ ป่าชายเลน หรือ การใช้เทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage) ซึ่งมีหลายส่วนที่ดำเนินการอยู่ แต่เรื่องนี้ต้องเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำหลายๆ ภาคส่วน เพราะตัวสินทรัพย์ที่สำคัญ คือ ระบบในการจัดเก็บคาร์บอน ซึ่งจะเป็นส่วนที่ใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นการร่วมดำเนินการกันหลายๆ ภาคส่วน จะทำให้เกิด Economy of Scale ได้ง่ายขึ้น
อีกหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ซึ่งทางดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มุ่งเน้นพัฒนาสำหรับ ECO System คือ โครงการ “กรีนโลจิสติกส์” ที่มีแนวคิดการนำ EV มาใช้ในกิจกรรมการขนส่ง และการบริหารจัดการในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการขนส่ง โดยกรีนโลจิสติกส์ ไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดพลังงาน และลด Carbon Footprint เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ต้นทุน และการสูญเสีย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
“ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีแผนในการยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ผ่านการลดต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาว โดยเราสร้างทั้ง ECO System ผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้า เรามีแนวคิดการนำ Second Life แบตเตอรี่ มาเสริมประสิทธิภาพพลังงานทดแทน การวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์กระจายสินค้า และเชื่อมโยงข้อมูล เรื่องทั้งหมดต่างร้อยเรียงกัน และเมื่อทำได้ทั้งหมดก็จะเป็น ECO System ที่ยั่งยืน”
เมื่อภาพรวมทั้งระบบได้วางเรียงให้เห็นภาพแล้ว จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาดำเนินการจริงผ่าน “ระบบปฏิบัติการที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” ที่สอดคล้องกับ ภารกิจ “Mission to The Sun” ซึ่งมี 9 ภารกิจ มุ่งไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน
อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญคือ การจัดระบบข้อมูลเพื่อการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน ที่นำระบบดิจิทัลมาทำให้ข้อมูลมีความชัดเจนพร้อมรายงานสู่ภายนอก นอกจากนั้นยังมีภารกิจ ทางด้าน Circular Economy เช่น การจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม
ส่วนภารกิจเพื่อสังคมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป นั่นคือ Digital Health Tech โดยดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้จัดทำโครงการ WHAbit ซึ่งเป็น Application Platform ที่มีเป้าหมายช่วยให้แรงงานจำนวนกว่า 2-3 แสนคน ในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพได้ง่าย สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ และเสริมสร้าง Well-Being ให้กับคนในสังคมให้มีสุขภาพดีขึ้นอย่างยั่งยืน ปัจจุบันดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้เริ่มใช้ Application Platform ดังกล่าวกับพนักงานในองค์กรเรียบร้อยแล้ว
"นี่คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ Tech Company ในแบบของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ภายใต้พันธกิจการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม WHA : WE SHAPE THE FUTURE"
จากเรื่องเล่าของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป องค์กรที่นำคำว่า “ความยั่งยืน” ออกจากกรอบของหลักการและแนวความคิดไปสู่ “การปฏิบัติ” ที่น่าสนใจ และส่งผลต่อเนื่องที่ดีไปสู่สังคม ประเทศชาติและประชาคมโลก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์