เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ตัวช่วยสุดล้ำสู่ Net Zero
สวัสดีครับ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็วที่สุด เราต่างทราบดีว่ายังมีบางอุตสาหกรรมที่ยัง “งด” หรือแม้แต่ “ลด” การปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างยาก อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตเหล็กกล้า ส่วนบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นที่ลดการปล่อยคาร์บอน
ได้ง่ายกว่าได้เริ่มประกาศเป้าหมายเพื่อไปสู่ Net Zero ในอนาคตอย่างชัดเจน แต่ใช่ว่าการพยายามลดคาร์บอนตามเป้าหมายนั้นจะทำได้ 100% ด้วยการดำเนินการตามปกติเหมือนในปัจจุบัน (Business as Usual: BAU) เพราะหากพยายามจนถึงที่สุดแล้วแต่องค์กรยังมีคาร์บอนหลุดลอดออกมาอีก จะทำอย่างไรกับคาร์บอนเหล่านั้น
ข่าวดีคือปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีมาแก้ปัญหานี้ เรียกว่า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากจากโรงงานหลุดลอดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ง่ายๆ
CCUS คืออะไร? ตามนิยามของ International Energy Agency (IEA) นั้น CCUS เป็นเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งถูกปล่อยจากแหล่งกำเนิดก๊าซขนาดใหญ่ที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีกระบวนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศ หรือโดยอ้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงก๊าซทางเคมี แล้วขนส่งก๊าซต่อไปทางท่อหรือวิธีการขนส่งอื่นๆ เพื่อไปจัดเก็บไว้ในสถานที่ที่ก๊าซจะไม่สามารถหลุดออกมาภายนอกได้อย่างถาวร ยกตัวอย่างเช่น การอัดฉีดก๊าซไว้ในโพรงหินลึกใต้ดินที่เดิมเป็นแหล่งสะสมน้ำมันแต่ถูกสูบออกไปหมดแล้ว และในขณะเดียวกัน เทคโนโลยี CCUS ยังสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ไปใช้ประโยชน์ให้หมดไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาศัยก๊าซนั้นในขั้นตอนการผลิต อาทิ การผลิตปุ๋ย
เทคโนโลยี CCUS นี้สามารถนำไปติดตั้งกับโรงงานผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อดักจับคาร์บอนในขณะที่โรงงานนั้นยังอยู่ระหว่างการหาหนทางปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น แทนที่จะปิดโรงงานโดยยังไม่มีแผนชัดเจนในการรองรับผลกระทบจากการปิดกิจการดังกล่าวต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจในเขตพื้นที่นั้น เพื่อให้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) อันคำนึงถึงแรงงานที่เกี่ยวข้อง
จริงๆ แล้ว CCUS ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ หากแต่มีใช้อยู่หลายปีแล้วในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และนอร์เวย์ เป็นต้น แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพง โครงการ CCUS จึงยังไม่แพร่หลายนัก อย่างไรก็ตาม CCUS ถือเป็นหนึ่งใน “ตัวช่วย” อันเป็นที่ยอมรับและรับรองในระดับสากลว่ามีศักยภาพในการลดคาร์บอน และเมื่อไม่นานมานี้ Global CCS Institute ได้ออกรายงาน State of the Art: CCS Technologies 2023 ซึ่งนำเสนอหลากหลายนวัตกรรม CCUS ล่าสุดอย่างครบวงจร เพื่อให้โรงงานที่สนใจสามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตนไปใช้ได้
แม้ว่าโครงการ CCUS หลายแห่งทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปฝังใต้ดินได้จริง แต่ในแง่ของการนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ประการอื่นนั้นยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป อาทิ Institute for Energy Economics and Financial Analysis ประมาณการว่าค่าไฟฟ้าจากโรงงานที่มีการติดตั้ง CCS ในออสเตรเลียจะตกอยู่ที่ 100-130 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าไฟฟ้าปกติในปัจจุบันที่อยู่ระหว่าง 75 ถึง 95 ดอลลาร์ออสเตรเลีย แน่นอนว่าราคาที่เพิ่มขึ้นย่อมเป็นภาระสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะทางตรงโดยการจ่ายค่าไฟฟ้าเอง หรือทางอ้อมโดยการนำภาษีไปช่วยเหลือโครงการนี้
ดังนั้นการหาวิธีลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าจากโครงการ CCUS จึงเป็นสิ่งที่ยังต้องค้นคว้าวิจัยกันต่อไปเพื่อให้ราคาลดลงมาอยู่ในระดับเข้าถึงได้สำหรับประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เรายังไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ได้ เทคโนโลยี CCUS ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับช่วยดักจับก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทางจากโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหินหรือโรงงานอุตสาหกรรมหนัก ควบคู่ไปกับหนทางอื่นๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พร้อมสนับสนุนภาคเศรษฐกิจไทยให้สามารถเดินหน้าสู่ Net Zero ได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังครับ