'ทีดีอาร์ไอ' ชี้กลไกรัฐช่วยลดคาร์บอน เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจสีเขียว

'ทีดีอาร์ไอ' ชี้กลไกรัฐช่วยลดคาร์บอน เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจสีเขียว

“ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโลกร้อน เดินหน้าภาษีคาร์บอนแบบคู่ขนาดพร้อมลดการอุดหนุนดีเซล เคลื่อนนโยบายคาร์บอนเครดิต พร้อมตั้งกองทุนฯ เพื่อธุรกิจสีเขียว จูงใจนักลงทุนต่างชาติ เคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโต

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนา “TDRI Annual Public Conference 2023” ปรับประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเทศไทย ถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสูงแม้ว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% ของปริมาณทั่วโลก แต่เป็นประเทศเสี่ยงสุดในอันดับที่ 9 ของโลก  นำไปสู่แรงกดดันโลกขับเคลื่อนให้ไทยมุ่งสู่การปรับตัวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ความตกลงระดับนานาประเทศ ซึ่งบางพื้นที่คิดราคาคาร์บอน เช่น สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการ CBAM ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 และจะมีผลต่อสินค้าต่าง ๆ ที่จะนำเข้ายุโรป รวมถึงผู้ที่นำซัพพลายเชนสินค้าต่าง ๆ ด้วย

\'ทีดีอาร์ไอ\' ชี้กลไกรัฐช่วยลดคาร์บอน เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ทั้งนี้ เป้าหมาย Net Zero ไทยอยู่ที่ปี 2065 ถือว่าช้ากว่าหลายประเทศในโลกและช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และลาว ซึ่งอาจทำให้ภาพลักษณ์ของไทยดูไม่ดีในเวทีโลก และเพื่อเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศา ภายในสิ้นศตวรรษ ไทยจะต้องเพิ่มความเร็วในการลดคาร์บอนถึง 5 เท่า

กลไกรัฐช่วยลดปล่อยคาร์บอน

“รัฐบาลในฐานะผู้ที่มีทรัพยากรและมีอำนาจสามารถทำได้ คือ

1. ลงทุนโดยตรง เช่น สร้างระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ

2. จัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐซื้อสินค้าเกี่ยวผลิตภัณฑ์เขียวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3. ให้เงินอุดหนุนประชาชนใช้สินค้าบริการที่ลดการปล่อยคาร์บอน

4. กำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิงให้สะอาด มาตรฐานอาคาร ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

5. เก็บเงินตามคาร์บอนที่ปล่อย”

อย่างไรก็ตาม มาตรการคิดราคาคาร์บอนได้แพร่หลายในโลกอย่างรวดเร็วปัจจุบันมีอย่างน้อย 39 ประเทศกับ 33 รัฐบาลท้องถิ่น อาทิ จีน อียู ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแอฟริกา ดังนั้น ข้อดีของระบบภาษีคาร์บอน คือ ธุรกิจจะลงทุนได้ง่ายเพราะรู้ต้นทุนว่าคาร์บอนแต่ละตันมีราคาเท่าไหร่ เพราะราคาจะเปลี่ยนไปตามอุปสงค์อุปทาน ทำให้รัฐประมาณการรายได้ง่ายขึ้นเพราะรู้ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ และที่สำคัญคือ ถูกนำมาใช้ได้ง่ายเพราะใช้กลไกการเก็บภาษีที่มีอยู่โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต ไม่ต้องไปสร้างตลาดรองตลาดหลักเอามาเทรดคาร์บอน

“ทีดีอาร์ไอเสนอว่าไทยควรใช้การคิดราคาคาร์บอนด้วยการเก็บภาษีคาร์บอน ส่วนอัตราเท่าไหร่ เมื่อไปดูตัวอย่างในโลกจะเห็นว่าแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ในสแกนดิเนเวีย สหภาพยุโรป ที่ราคาต่อตันนคาร์บอนค่อนข้างสูงเกือบ 100 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนประเทศในเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ อยู่ระดับประมาณ 5- 20 ดอลลาร์ต่อตัน ดังนั้น จึงสามารถกำหนดความครอบคลุมมากหรือน้อยก็ได้เช่นได้ใช้กับบางสาขาหรือทั้งระบบเศรษฐกิจ”

ภาษีคาร์บอนคู่ขนาน2ระบบ

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอ จึงเสนอให้เก็บภาษีคาร์บอน 2 ระบบคู่ขนานกัน ส่วนแรก คือ ภาษีคาร์บอนในการส่งสินค้าบางรายการไปยังบางภูมิภาคที่เก็บภาษีที่คิดราคาคาร์บอนด้วยมาตรการคล้าย ๆ กับ CBAM ของสหภาพยุโรป โดยจะเก็บจากโรงงานผลิตสินค้า เช่น โรงงานในอลูมิเนียมให้เก็บ ณ จุดผลิตและเก็บเฉพาะส่วนส่งออกไปยังประเทศที่คิดราคาคาร์บอน ดังนั้น กับอีกส่วนคือ เก็บภาษีคาร์บอนพลังงานซึ่งเก็บจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและผู้ค้าน้ำมันตลอดจนสินค้านำเข้าในบางอุตสาหกรรมหนัก ตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา

อย่างไรก็ตาม หากสมมุติเริ่มต้นอัตราภาษีประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน เมื่อคำนวณจะเกิดรายได้ต่อประเทศไทยปีละ 30,000 ล้านบาท เมื่อคิดปริมาณการบริโภคในปีที่ผ่านมาและมีผลต่อราคาสินค้าเล็กน้อย เช่น ราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1% ราคาดีเซลเพิ่มขึ้น 1.4% และราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.8% สามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 1.1 ล้านตันต่อปี หรือ 0.4% ของปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยในประเทศไทย

ราคาพลังงานไม่จูงใจให้ประหยัด

สำหรับการเก็บภาษีน้ำมันสุทธิที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งรวมกับกองทุนน้ำมันฯ ต่อ 1 ตันคาร์บอน เบนซินถูกเก็บภาษีประมาณ 100 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่สูสีหรือสูงกว่าราคาคาร์บอนที่ซื้อขายกันในยุโรปเล็กน้อยด้วยซ้ำ แต่ปัญหาอยู่ที่การเก็บภาษีสุทธิของน้ำมันดีเซล ที่กองทุนต้องอุดหนุนประมาณ 16 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ถือเป็นตัวปัญหาใหญ่การอุดหนุนดีเซลราคาในระดับสูง

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาอย่างน้อย 3 อย่าง คือ

1. ไม่จูงใจให้เกิดการประหยัดพลังงานและทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก

2. ปล่อยมลพิษปริมาณมากส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยเฉพาะนำดีเซลไปใช้กับเครื่องยนต์เก่า ๆ และ

3. สร้างภาระต่อกองทุนน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันติดลบประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท จึงควรยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันดีเซล

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอจึงอยากเสนอว่า การลดการปล่อยคาร์บอนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ คือ

1. เลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเร็วที่สุด

2. เก็บภาษีคาร์บอนและตั้งกองทุน Green transition and adaptation fun

3. สร้างตลาดคาร์บอนเครดิตสำหรับภาคสมัครใจ

4. ทำ sandbox ลดคาร์บอนในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยยกระดับด้วยกฎหมายระดับการบริหารงานภาครัฐถอดบทเรียนมาขยายผลระดับประเทศปฏิรูปโครงสร้าง

5. ใช้มาตรการหนุนเสริม เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การกำหนดมาตรฐานและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

6. ขอทุนจากต่างประเทศ