'เอ็นเอชเค สปริง' เปลี่ยนผ่านธุรกิจ สู่ต้นแบบผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ยั่งยืน
"เอ็นเอชเค สปริง" เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาโปรดักต์ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและลูกค้า พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เดินหน้าบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050
บริษัท เอ็นเอชเค สปริง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2506 และมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งได้รับส่งเสริมการลงทุนมาโดยตลอด
ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 ส่วนการผลิต ประกอบด้วย 1. ส่วนผลิตซัสเปนชั่นสปริง โรงงานเวลโกรว์ ฉะเชิงเทรา 2. ส่วนผลิตเบาะรถยนต์ โรงงานบางปู สมุทรปราการ, โรงงานบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา และโรงงานเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง 3. ส่วนผลิตพรีซิซั่นสปริง โรงงานเวลโกรว์ ฉะเชิงเทรา 4. ส่วนผลิตดิสก์ไดรฟ์ซัสเปนชั่น โรงงานเวลโกรว์ ฉะเชิงเทรา รวมทั้งมีแนวทางการบริหารธุรกิจที่จะอยู่คู่กับสังคมไทย โดยที่ผ่านมาได้มีการตอบแทนคืนสู่สังคมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น โครงการฟื้นฟูป่า จ.จันทบุรี เป็นต้น และล่าสุดกับโครงการ "ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป" กำลังการผลิต 10 กิโลวัตต์ ที่โรงเรียนวัดกระทุ่ม ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
นายฮาจิเมะ โอกาจิมะ ประธานบริษัท เอ็นเอชเค สปริง (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เอ็นเอชเค สปริง มีการประกอบกิจการ 2 ส่วนหลัก คือ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ปัจจุบันเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์จากการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่การผลิต รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งคลื่นการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนก็กำลังทยอยเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการผลิต รถอีวี จะทำให้มีจำนวนชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง แต่ก็ยังมีความต้องการโปรดักต์ที่บริษัทฯ ของเราผลิต อาทิ แหนบรถยนต์ และเบาะรถยนต์ โดยจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงด้านสมรรถนะเพื่อรองรับการใช้งานในรถอีวี เช่น ทำให้มีน้ำหนักเบา เป็นต้น
"การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์ ทำให้บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะทำการวิจัยและพัฒนาโปรดักต์ที่เรามีความเข้มแข็งเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและลูกค้า สอดรับกับการผลิตรถอีวีของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน ซึ่งสนับสนุนให้บริษัทฯ มีการเติบโตต่อไปในอนาคต"
นายโอกาจิมะ กล่าวถึงภาพรวม อุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยในปี 2567 ว่า ช่วงครึ่งปีแรกอาจเติบโตได้ลำบาก เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงที่กดดันกำลังซื้อ รวมทั้งดีมานด์ในประเทศส่วนหนึ่งที่แบ่งไปที่ รถอีวี นำเข้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตยานยนต์ในประเทศลดน้อยลง อย่างไรก็ตามเราคาดหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมียอดการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อเติมสต็อกที่ระบายออกไปในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนการส่งออกก็เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางที่เกิดความขัดแย้งปะทุขึ้น ทำให้คาดว่าในปีหน้าการส่งออกก็จะยังทรงตัว
ขณะที่ในส่วนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ (HDD) นายโอกาจิมะ ยอมรับว่า มีความต้องการ HDD ลดลง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยกว่า SSD ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของความจุ หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มากกว่า ทำให้ HDD ยังมีความต้องการในการใช้เก็บข้อมูลบนคลาวด์ หรือดาต้าเซนเตอร์ ซึ่งยังมีโอกาสขยายตัวได้ในระยะยาว
"ธุรกิจ HDD อยู่ในช่วงความผันผวนและเปลี่ยนแปลง รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเช่นกัน จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารในการตัดสินใจในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ โดยในช่วงระยะ 1-2 ปีนี้ บริษัทฯ ยังไม่มีแผนขยายกำลังการผลิต แต่การผลิตชิ้นส่วนรถอีวีของ NHK Group นั้น ก็ต้องจับตาดูว่าจะมีการขยายฐานการผลิตจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเข้ามาที่ไทยในอนาคตหรือไม่"
นายโอกาจิมะ กล่าวต่อไปว่า ขอบคุณสังคมไทยที่มีส่วนในการสนับสนุนการดำเนินงานตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ตั้งใจที่จะยืนหยัดและดำรงกิจการอยู่ในประเทศไทยอย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการทำ กิจกรรมเพื่อสังคม ส่งเสริมการศึกษาของเด็กและเยาวชน รวมทั้งตอบสนองเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี ค.ศ. 2050 โดยบริษัทฯ กำลังเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานในกระบวนการผลิตจากเดิมที่ใช้แก๊สให้เปลี่ยนเป็นไฟฟ้า ปรับปรุงประสิทธิภาพผลิตและลดการใช้พลังงาน รวมถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้ง 6 โรงงานในไทย และผลักดันการเพิ่มสัดส่วนการใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
"เบื้องต้นทางเราได้พยายาม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ และดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงงานให้มากที่สุด และอาจพิจารณากิจกรรมชดเชยคาร์บอนอื่นๆ ในอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ภายในปี ค.ศ. 2050"
นายโอกาจิมะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอ็นเอชเค สปริง ยังได้ดำเนินโครงการปันความรู้สู่ชุมชน โดยให้น้องๆ นักเรียนในชุมชนใกล้เคียงได้เข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์ฝึกอบรมของบริษัทฯ สร้างความตระหนักถึงเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนให้กับเด็กและเยาวชนไทย รวมทั้งล่าสุดได้นำร่องโครงการการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิต 10 กิโลวัตต์ ที่โรงเรียนวัดกระทุ่ม ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมการใช้ พลังงานสะอาด ให้กับสังคมรอบข้าง รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟในห้องเรียนเป็น LED ให้มีแสงสว่างที่เพียงพอต่อการเรียนการสอน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าของโรงเรียนลงมากกว่าครึ่ง