"ภาษีคาร์บอน" ใกล้ได้ใช้แล้ว สรรพสามิตเปิด 5 หลักคิด จัดเก็บเป็นธรรม
เป้าหมายที่ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% หรือ 222 ล้านตันคาร์บอน ในปี 2573 มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608
เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมสรรพสามิตจึงมีนโยบายสนับสนุนนโยบายภาครัฐดังกล่าว
ปัจจุบันกรมสรรพสามิตกำหนดนโยบาย EASE EXCISE ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ซึ่ง ตัว E ตัวแรก หมายถึง ESG/BCG Focus เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีเพื่อดูแลสุขภาพ พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศสู่มาตรฐานสากล
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เผยว่า กรมฯได้ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นต้น และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษามาตรการและแนวทางการจัดเก็บภาษี ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ศึกษาแล้วเสร็จประมาณกลางปี พ.ศ. 2567 และจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
กรมสรรพสามิตได้พิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับผู้กำหนดนโยบาย (Carbon Tax Guide: Handbook for Policy Maker) ของธนาคารโลก ซึ่งเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายต้องพิจารณา 5 ด้าน ได้แก่
1.ฐานภาษี (Tax base) สามารถจำแนกได้ 2 ส่วน คือ จัดเก็บจากกระบวนการผลิต เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่จัดเก็บจากโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือจากสินค้าเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่จัดเก็บกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหรือผลิตภัณฑ์จากฟอสซิล ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จะสามารถจัดเก็บภาษีได้กับสินค้าเท่านั้น โดยจัดเก็บจากทั้งผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้นน้ำหรือโรงกลั่นฯ สำหรับอุตสาหกรรมกลางน้ำหรือโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำอาจจัดเก็บกับสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
2.อัตราภาษี (Tax rate) ในปัจจุบันมีการกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนมีช่วงราคาที่ค่อนข้างกว้างจากประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ จนถึงประมาณ 130 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ขึ้นกับบริบทหรือสถานการณ์ภายในแต่ละประเทศ
3.การใช้งบประมาณ (Revenue use) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ธนาคารโลกเสนอให้พิจารณา เนื่องจาก การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องใช้งบประมาณเพื่อใช้จ่ายในโครงการต่างๆ หรือการใช้จ่าย เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางที่อาจมีต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาษีคาร์บอน
4.การบริหารจัดการด้านองค์กรที่รับผิดชอบ (Institutions) ควรมีการกำหนดผู้รับผิดชอบในประเด็นต่าง ๆ เช่น การตรวจวัดค่าและการสอบทวนอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบริหารการจัดเก็บภาษี เป็นต้น
5.การพิจารณาผลกระทบเชิงลบ (Avoid undesirable effects) เช่น ความซ้ำซ้อนของภาระภาษี และความเท่าเทียมระหว่างผู้เสียภาษีหรือระหว่างภาคส่วน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาถึงมาตรการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น สหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM โดยสามารถนำภาษีคาร์บอนภายในประเทศไปชดเชยกับค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่ถูกกำหนดขึ้นได้
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำว่าทั้ง 5 ส่วนที่กล่าวมามีความเชื่อมโยงกันกันในทุกมิติ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาออกแบบนโยบายภาษีโดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมทุกด้าน
"การจัดเก็บภาษีคาร์บอนมิได้มุ่งเน้นการหารายได้เป็นหลักแต่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งพฤติกรรมของผู้ผลิตในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อให้การผลิตสินค้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง และผู้บริโภคสามารถตระหนักและเลือกบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีราคาเข้าถึงได้"
โดยในช่วงแรกอาจจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราภาษีที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจาก เป็นการปรับตัวเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม แล้วจึงทยอยปรับขึ้นอัตราภาษี ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่เริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนเพียง 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอนเทียบเท่าในช่วงแรกและทยอยปรับขึ้นทุกๆ 2 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ นโยบายการจัดเก็บภาษีคาร์บอนยังมุ่งหวังการลดภาระของผู้ส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคที่มีการดำเนินมาตรการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน เพราะหากประเทศไทยไม่จัดเก็บภาษีคาร์บอน ภาระดังกล่าวก็จะถูกจัดเก็บในต่างประเทศแทน ดังนั้น จึงควรจัดเก็บภาษีคาร์บอนภายในประเทศเพื่อนำรายได้ดังกล่าวกลับมาใช้ในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า Revenue Recycling
ภาษีอาจถูกมองเป็นภาระทางธุรกิจ และย้อนกลับมาสู่ผู้บริโภค แต่เป้าหมายของภาษีคาร์บอนคือการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วกับภาระทางภาษีรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น