หน้าร้อนปีนี้จะมี “น้ำ”เพียงพอหรือไม่ “เอลนีโญ” ถล่มทำฝนน้อย - แล้งหนัก
จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.เมื่อ 16 ม.ค.67) ในหัวข้อเรื่อง รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ ระบุว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 9 -15 ม.ค.2567 มีดังนี้
1. สภาพอากาศ และการคาดการณ์ฝนปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลาง และอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพ.ค.2567 ซึ่งช่วงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมีผลทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ (ม.ค. - พ.ค.2567)
สภาพอากาศ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้มีลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมา จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นได้ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 15-18 ม.ค.2567 จากนั้นในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค.2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจะมีกำลังอ่อนลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง
2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ และการคาดการณ์ โดย สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 11 ม.ค.2567) มีปริมาณน้ำ 60,337 ล้านลูกบาศก์เมตร (73%) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 4,025 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนมีปริมาณน้ำใช้การ 36,124 ล้านลูกบาศก์เมตร (62%) มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พ.ค.2567) จะมีปริมาณน้ำ 19,661 ล้านลูกบาศก์เมตร (47%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่า 1,874 ล้านลูกบาศก์เมตร
ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พ.ย.2567) จะมีปริมาณน้ำ 32,835 ล้านลูกบาศก์เมตร(69%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่า 14 ล้านลูกบาศก์เมตร
3. พื้นที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ในช่วงวันที่ 9-15 ม.ค.2567 ไม่พบพื้นที่แจ้งอพยพน้ำหลากดินถล่ม
ด้านพื้นที่เกิดอุทกภัย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
4. การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ในช่วงวันที่ 8-12 ม.ค.2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มุกดาหาร อุบลราชธานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ศักยภาพการผลิตน้ำประปาต่ำกว่ามาตรฐาน และขาดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ จึงได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นโดยการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ เช่น การจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค การสูบน้ำระยะไกลเพื่อนำน้ำมาเก็บในแหล่งน้ำชุมชน การสำรวจศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ การอบรม และให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบำรุงรักษาระบบผลิตประปาหมู่บ้าน เป็นต้น สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยการเสนอแผนงานโครงการผ่านระบบ Thai Water Plan เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
จากข้อมูลที่มีอยู่สถานการณ์ “น้ำ” ในประเทศไทย ยังพอจัดการได้หากไม่มีปัจจัยอื่นมากระทบ ซึ่งคาถาสำคัญของทุกคนคือ การประหยัด และรู้จักคุณค่าน้ำทุกหยด จึงจะทำให้หน้าร้อนปีนี้น่าจะมี “น้ำ” เพียงพอแม้ “เอลนีโญ” จะทำฝนน้อย-แล้งหนักมากก็ตาม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์