'ศุภชัย' ชงไอเดียยกระดับการศึกษาไทยยุค 5.0 เชื่อมแนวคิด SI Model
ซีอีโอ "ซีพี" เสนอ กมธ.การศึกษา ขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ยุค 5.0 เชื่อมแนวคิด SI Model ในร่างกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ให้ก้าวทันบริบทโลก เด็กไทยต้องเข้าถึงคอมพิวเตอร์สะอาด
คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดย นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา ได้จัดโครงการสัมมนาเรื่อง "เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ประเทศ" เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและนำไปสู่การปรับกฎหมายคือการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาการศึกษาในตอนนี้เข้าขั้นวิกฤต จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับการศึกษาระดับโลก จึงเกิดการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้น
"การระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้จะเป็นความมุ่งหวังของคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทยที่จะกำหนดมาไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ"
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยปัจจุบันโลกก้าวสู่ยุค 5.0 แต่การศึกษาไทยยังอยู่ในระบบ 2.0
ทั้งนี้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศในการนี้ต้องเปลี่ยนเป็นการศึกษามาสู่ระบบ 5.0 ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี กล่าวคือ กรอบความคิดต้องเปลี่ยนจากระบบ 2.0 ที่ว่า “สอบให้ผ่าน ทำการบ้านให้เสร็จ ทำรายงานให้ทัน ปิดเทอม” มาสู่ 5.0 คือ “ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ”
นอกจากนี้นายศุภชัยยังเห็นว่าการเปลี่ยนการศึกษาไทยสู่ 5.0 ต้องกำหนดเข็มทิศอีกประการคือ การให้ความรัก ความมั่นคง และความมั่นใจกับเด็ก ครูจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็น "โค้ชที่ดี" เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ที่มีความเมตตา และโรงเรียนควรปรับระบบการสอนให้เป็น Learning Center เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง โดยเน้นย้ำว่า เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่องค์ความรู้ทั้งโลก
พร้อมกันนี้ซีอีโอ ซีพี ได้เสนอกระบวนการปฎิรูปการศึกษา ด้วยโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) หากกฎหมายทางการศึกษาฉบับใหม่นำ SI Model ไปปรับใช้อาจจะทำให้สามารถเปลี่ยนระบบนิเวศของการศึกษาให้ทันยุคสมัยได้ โดย 5 เสาหลักของ SI Model ประกอบด้วย
1. Transparency ความโปร่งใส ทุกโรงเรียนต้องมีรายงาน มีสมุดพกดิจิทัล ต้องมีตัวชี้วัด KPI ของโรงเรียน
2. Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก ต้องสร้างความเชื่อมโยงของโรงเรียนกับชุมชนและครอบครัวให้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบการศึกษาร่วมกัน
พร้อมทั้งส่งเสริมสื่อคุณธรรมในช่วง Primetime โดยให้ Incentive เพราะห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือ สื่อ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม
3. Leadership &Talents สร้างผู้นำและครู/บุคลากรทางการศึกษาที่มีทักษะ 5.0 และเสนอว่าควรไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ และต้องสร้างครูให้เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้
4. Child Centric / Empowerment เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางให้อำนาจตัดสินใจ
5. Technology ควรมีการปรับสอนให้เกิดการประยุกต์เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน
ดังนั้น ควรจะต้องมีการปรับปรุงระบบนิเวศการศึกษาเร่งด่วนใน 3 ด้านสำคัญคือ
1. เด็กทุกคนควรต้องมีคอมพิวเตอร์สะอาด
2. ทุกโรงเรียนจะต้องมี Learning Center เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning ที่มีการผสมผสานความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย
3. ควรมีหลักสูตรภาษาคอมพิวเตอร์
"กฎหมายทางการศึกษาต้องเน้นไปเรื่องของธรรมาภิบาล คุณธรรม ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ คนในระบบการศึกษาต้องปรับกรอบความคิดตามหลักมรรค 8 และแม้ว่าจะต้องพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยี"
ทั้งนี้ มีการนำเอไอเข้ามาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้เป็นเนื้อเดียวกัน และจะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในแบบ PPP ควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเป็น Learning Center พร้อมทั้งภาครัฐจำเป็นต้องมีทุนเทคสตาร์ทอัพในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ลูกหลานของเราเติบโตอย่างมีคุณภาพ และสามารถปรับตัวได้"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ขับเคลื่อน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มองว่า ปัญหาของการศึกษาไทยในตอนนี้มี 3 เรื่องหลักคือ
1. เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น
2. มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาสูงมาก
3. ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย
ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการปรับกฎหมายทางการศึกษามุ่งเน้นการสร้างคนมาเพื่อพัฒนาประเทศได้ โจทย์ใหม่ที่ท้าทายของระบบการศึกษาที่จากเดิมผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนเป็นการสอนการใช้ชีวิตที่มีทักษะทางสังคม ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนหน้าที่จากการให้ความรู้มาเป็นการให้ทักษะ โดยสิ่งจำเป็นในการพัฒนาระบบการศึกษาและถือเป็นหัวใจสำคัญคือการพัฒนาครู
ดังนั้นกฎหมายทางการศึกษาจะต้องมี 4 เรื่องหลัก
1. ความชัดเจนในสิทธิของเด็ก ผู้ปกครอง ครอบครัวกับหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรทรัพยากรโดยคำนึงถึงความเสมอภาค
2. ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในกฎหมายจะต้องเขียนให้ชัดว่ารัฐจะให้สิทธิและแรงจูงใจอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการศึกษาและต้องมีการพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่
3. พัฒนาหลักสูตร พร้อมทั้งฝึกครู ผลิตครูให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 4. ปรับโครงสร้างการจัดการระบบการศึกษาและระบบการประเมิน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เปิดเผยว่า พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติไม่ว่าจะฉบับเก่าหรือใหม่ ควรยังต้องคงประเด็นเรื่องให้เด็กเป็นศูนย์กลางทางการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์การศึกษาต้องสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีความสุข
โดยกุญแจสำคัญของร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ คือ การศึกษาต้อง "สร้างสมรรถนะ" ให้กับผู้เรียน โดยมองว่ายุค 5.0 เป็นโอกาสในการพัฒนาการศึกษาด้วยการใช้เทคโนโลยีและภาษาซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงเด็กจำเป็นต้องมีทักษะในการแสวงหาความรู้อย่างเท่าทัน
ดังนั้นการพลิกโฉมประเทศไทยต้องปฏิรูปการศึกษาที่ใน 4 สมรรถนะสำคัญคือ เด็กต้องเรียนเพื่อรู้ ต้องเรียนและเอาไปทำ ปรับใช้ให้เป็น ต้องสอนให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้ และต้องสอนให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีความสุข พร้อมทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรม
"สิ่งจำเป็นมากที่สุดที่จะทำให้เกิดสมรรถนะได้ คือต้องพัฒนาครูในการสร้างสมรรถนะเพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด"