การสำรวจสำมะโนประชากร “สีเขียว” เพื่อความยั่งยืน

สวัสดีครับ ขณะที่บริษัทน้อยใหญ่ในปัจจุบัน เริ่มมีความคุ้นเคย และเข้าใจผลกระทบของภาวะโลกร้อน รวมทั้งเข้าใจความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และท่านอาจจะเคยได้ยินคำที่พูดกันบ่อยๆ อาทิ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ของสถาบันการเงินอาจจะยังนึกไม่ถึงคือ ความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผย “ข้อมูลสีเขียว” ให้แก่สถาบันการเงินที่ท่านกู้ยืม ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ 

อีกไม่นาน RM ซึ่งหมายถึงผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าของธนาคาร อาจจะติดต่อไปหาท่าน พร้อมพูดคุยว่าธนาคารต้องการข้อมูลทางธุรกิจของลูกค้าจำนวนหนึ่งเพิ่มเติมจากเดิม ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงยอดขายหรือความสามารถในการทำกำไร แต่เป็นข้อมูลการใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำประปา การใช้เชื้อเพลิง และโดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการของท่านในด้านการปล่อยคาร์บอน  เหตุใดจึงต้องขอข้อมูลดังกล่าว ขออธิบายแบบง่ายๆ ดังนี้ครับ

ประการแรก 

ภูมิทัศน์ภาคการเงินของไทยได้เปลี่ยนไปสู่ทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHG)  โดยธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ได้ร่วมกันกำหนดกรอบกติกาเริ่มต้นที่เรียกว่า Thailand Taxonomy เมื่อกลางปีที่แล้ว นั่นคือ การจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ธนาคารสามารถแยกแยะว่ากิจการใดปล่อย GHG มากน้อยเพียงใด โดยจัดกลุ่มด้วยสัญลักษณ์สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตามระดับการปล่อย GHG สำหรับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อตามนโยบายข้างต้น  ดังนั้น แม้ว่าธนาคารจะมีข้อมูลธุรกิจเบื้องต้นของลูกค้าอยู่แล้ว แต่การจะจำแนกลูกค้าในแต่ละสีได้ชัดเจน ธนาคารอาจต้องขอข้อมูลลูกค้าเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ประการที่สอง

เมื่อจัดอันดับแล้ว ธนาคารยังมีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการ “ชักชวน” ให้ลูกค้าที่ยังมีกิจการที่ถูกจัดกลุ่มเป็นสีเหลืองหรือสีแดง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ถึงกว่าร้อยละ 90 ของพอร์ตสินเชื่อของระบบธนาคารโดยเฉลี่ยมาเริ่มต้นกระบวนการ “เปลี่ยนผ่าน” (Transition) เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น โดยธนาคารจะเป็นผู้สนับสนุนทั้งทางการเงิน และคำปรึกษา ตามแนวทางของแผนเปลี่ยนผ่าน (Transition Plan) ที่แต่ละธนาคารจะต้องส่งให้ ธปท. รับทราบและอนุมัติ  ในขั้นตอนนี้เอง ลูกค้าโดยเฉพาะรายที่มีความพร้อมที่จะให้ข้อมูล จะได้รับการขอให้แบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมที่ละเอียดขึ้น อาทิ ข้อมูลการปล่อย GHG ที่ถือเป็นข้อมูลเริ่มต้น (Baseline) รวมถึงแผนในการเปลี่ยนผ่าน (หากมี)   

ประการที่สาม 

สถาบันการเงินเองจำเป็นจะต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG ของตนตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกใน 3 ขอบเขต ประกอบด้วย ขอบเขตที่ 1 การปล่อย GHG โดยตรง อาทิ เชื้อเพลิง การใช้ยานพาหนะ เป็นต้น  ขอบเขตที่ 2 การปล่อย GHG โดยอ้อมที่ถูกซื้อมา อาทิ การใช้ไฟฟ้า เป็นต้น  และขอบเขตที่ 3 การปล่อย GHG โดยอ้อมอื่นๆ ซึ่งจะมีความเกี่ยวโยงกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ที่เราเรียกกันว่า “Financed Emissions” ในความหมายง่ายๆ คือ ธนาคารปล่อย GHG โดยอ้อมจำนวนเท่าไร ผ่านการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า  ถูกต้องครับ การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าก็ถือได้ว่าธนาคารปล่อย GHG แบบโดยอ้อมเช่นเดียวกัน เนื่องจากเงินทุนที่ได้จากธนาคารถูกใช้ประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิด GHG   

บางท่านอาจจะมีคำถามตามมาว่ายังไม่ให้ข้อมูลตอนนี้ได้ไหมเพราะยังไม่พร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี คู่แข่งของท่านอาจพร้อมที่จะเปิดเผย “ข้อมูลสีเขียว” และเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปก่อนได้  ไม่เพียงเท่านี้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังร่าง และจะมีผลใช้บังคับแน่นอนในเวลาอันใกล้ จะมีข้อบังคับให้องค์กรธุรกิจบางส่วนเริ่มเปิดเผยข้อมูลการปล่อยคาร์บอนขององค์กร (Corporate Carbon Footprint) ซึ่งอาจทำให้การเปิดเผยข้อมูลข้างต้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว จึงมีคำกล่าวแนะนำว่า จงเปิดเผยข้อมูลสีเขียวของท่านเองเสียแต่วันนี้ ดีกว่าจะให้คนอื่นมาพูดถึงข้อมูลของท่านแบบไม่ถูกต้องในวันหน้าครับ

การสำรวจสำมะโนประชากร “สีเขียว” เพื่อความยั่งยืน

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์