CP ติด  1 ใน 136 บริษัทมีจริยธรรมมากที่สุดในโลกประจำปี 2567

CP ติด  1 ใน 136 บริษัทมีจริยธรรมมากที่สุดในโลกประจำปี 2567

CP ติด  1 ใน 136  “บริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกประจำปี 2567”  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากการประเมินของสถาบันระดับโลก Ethisphere  ด้าน ซีอีโอ เครือซีพี เชื่อมั่นคุณธรรมความซื่อสัตย์สร้างธุรกิจเติบโตยั่งยืน

 Ethisphere สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านการวัดและประเมินมาตรฐานจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ประกาศผลการพิจารณา “บริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกประจำปี 2567” (The 2024 World’s Most Ethical Companies) 

ในปี 2567 มีบริษัทชั้นนำจาก 20 ประเทศทั่วโลกผ่านการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 136 บริษัท  โดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ เครือซีพี จากประเทศไทยได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 

สำหรับในปี 2567 ถือเป็นการประเมินบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกครั้งที่ 18 นอกจากเครือซีพีแล้วมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้รับพิจารณาว่ามีจริยธรรมมากที่สุด อาทิ PepsiCo จากสหรัฐอเมริกา  Sony จากญี่ปุ่น  Kellanova (Kellogg) จากสหรัฐอเมริกา  Hershey’s  จากสหรัฐอเมริกา  L’ORÉAL จากฝรั่งเศส  IBM จากสหรัฐอเมริกา  Allianz Life จากสหรัฐอเมริกา  Kao Corporation จากญี่ปุ่น  MasterCard จากสหรัฐอเมริกา และ ManpowerGroup Inc.จากสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ข้อมูลของ Ethisphere ระบุว่า การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมสร้างผลกระทบเชิงบวกและเสริมประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งถึง 12.3%  ขณะที่ซีอีโอ เครือซีพี เชื่อมั่นคุณธรรมความซื่อสัตย์สร้างธุรกิจเติบโตยั่งยืน

คุณเอรีก้า ซัลมอน เบิร์น (Erica Salmon Byrne) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และประธานบริหารของ สถาบัน Ethisphere   เปิดเผยว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจจะต้องได้รับและรักษาความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่พนักงานและนักลงทุน ไปจนถึงหน่วยงานกำกับดูแล และ อื่น ๆ ความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ และการลงทุนภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มแข็ง ตลอดไปจนถึงวัฒนธรรมที่มีจริยธรรม ความเป็นพลเมืองขององค์กร และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ องค์กรต่าง ๆ ไม่เพียงสร้างความไว้วางใจเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพเหนือกว่าอีกด้วย โดยในปี 2024 มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าผู้ได้รับรางวัลมีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งถึงอยู่ที่ 12.3% สะท้อนให้เห็นว่าความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมผ่านจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อพนักงาน ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง ตลอดจนมีส่วนทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพีเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจต้องยึดหลักคุณธรรมและความซื่อสัตย์  ปัจจุบันเครือซีพีเติบโตเข้าสู่ปีที่ 103 มีการขยายธุรกิจหลากหลายรวม 14 กลุ่มธุรกิจใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ มีพนักงานกว่า 4.5  แสนคนทั่วโลก

ทุกกลุ่มธุรกิจจึงต้องสร้างศักยภาพขององค์กรในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้วยการสร้างจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อสร้างประโยชน์ใหักับสังคมและประเทศชาติ โดยผู้นำมีบทบาทสำคัญอย่างมากต้องเป็น “โค้ชที่ดี” ในการปรับตัวและพัฒนากระบวนการด้านจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้มีความโปร่งใส มีการนำระบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้

รวมทั้งมีการวางระบบและติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดีให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร โดยเป้าหมายด้านการกำกับกิจการสู่ปี 2573 ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือซีพีจะต้องเข้าร่วมการประเมินจากองค์กรชั้นนำระดับโลก เพื่อยกระดับงานด้านจริยธรรมและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

“การสร้างจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี คือรากฐานสำคัญในการนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน ทุกกลุ่มธุรกิจต้องมีความเชื่อมโยงและมีเป้าหมายเดียวกัน ต้องเห็นคู่ค้า ลูกค้าเป็นหนึ่งเดียวกันกับธุรกิจ  สิ่งเหล่านี้ทำให้เครือฯได้รับการยอมรับ เราจะพัฒนาและยกระดับการกำกับดูแลกิจการให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อนำองค์กรสู่การเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน มุ่งสร้างประโยชน์ประเทศอย่างไม่สิ้นสุด”

ทั้งนี้เครือซีพีได้รับการคัดเลือกจากสถาบัน Ethisphere ในการประเมินตามมาตรฐานที่เข้มงวดให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำที่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้ โดยเครือซีพีได้รับคะแนนการประเมินสูงสุดใน 3 ด้านสำคัญคือ

1.ด้านการบริหารจัดการบุคคลภายนอก (Third Party Management) ซึ่งถือเป็นหมวดใหม่ของปีนี้ที่ผู้ประเมินให้ความสำคัญ และเครือฯ ได้คะแนนในหมวดนี้สูงที่สุด ผ่านการประเมินที่มีจุดเน้นว่าเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมและมีการกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีหลักการกำกับดูแลบุคคลภายนอกที่ชัดเจน และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากบุคคลภายนอก 

2.ด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม (Environment and Social Impact)

3.ด้านจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Ethics and Compliance Program)

สำหรับ World’s Most Ethical Companies เป็นการพิจารณาประเมินคัดเลือกองค์กรที่ดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม ภายใต้ระบบ Ethics Quotient (EQ) ซึ่งได้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยสถาบัน Ethisphere เพื่อยกย่องบริษัทที่แสดงความเป็นผู้นำทางจริยธรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ซึ่งองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องผ่านการประเมินอย่างด้วยเข้มข้นด้วยการให้ข้อมูลผ่านคำถามมากกว่า 240 ข้อ เกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมด้านจริยธรรม แนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

รวมไปถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การเคารพความหลากหลายและไม่แบ่งแยก ตลอดจนมีการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่แข็งแกร่ง  โดยกระบวนการเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นกรอบการประเมินแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดขององค์กรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ปัจจุบัน World’s Most Ethical Companies  มีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเป็นเครือข่ายสมาชิกมากกว่า 300 บริษัททั่วโลก และมีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการประเมินและยกย่องนับตั้งแต่ก่อตั้ง World’s Most Ethical Companies มาแล้ว 18 ปี รวม 6 แห่ง ได้แก่  Aflac, Ecolab, International Paper, Kao Corporation, Milliken & Company และ PepsiCo ส่วนเครือซีพี ติดอันดับต่อเนื่องมา 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2564