ความเสี่ยงที่ต้องรับมือ จากภาวะโลกร้อนปี 2566
ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ระบุว่า ความเสี่ยง และปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อโลกในระยะสั้น และระยะยาวตาม Global Risks Perception Survey (GRPS) ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงทั่วโลกจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,490 ราย
ทั้งจากสถาบันการศึกษา ธุรกิจ รัฐบาล ชุมชนระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม และสรุปข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาพรวมด้านความเสี่ยงทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ในรายงาน Global Risks Report 2024 ของ World Economic Forum โดยในปีนี้ แบ่งประเด็นความเสี่ยงออกเป็น 5 กลุ่ม ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic) - สีฟ้า ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) - สีเขียว ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) - สีส้ม ความเสี่ยงด้านสังคม (Societal) - สีแดง ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technological) – สีม่วง
จากรายงานระบุว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดของโลกใน 5 อันดับแรก นั่นคือ ภาวะสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว หรือ Extreme weather เช่น ไฟป่า น้ำท่วม คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาทั้ง 2 ปี และ 10 ปี
ในอันดับถัดมาคือ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อโลกทั้งระบบ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศล่มสลาย การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการบิดเบือนข้อมูล ส่วนปัญหามลพิษในอากาศ น้ำ ดิน หรือ Pollution ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ อย่างกิจกรรมในครัวเรือน อุตสาหกรรม อุบัติเหตุ รวมไปถึง การรั่วไหลของน้ำมัน และกัมมันตภาพรังสี และการปนเปื้อน อยู่ในอันดับที่ 10 ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาทั้ง 2 ปี และ 10 ปี เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก World Economic Forum's 2023 Executive Opinion Survey (EOS) สรุปความเสี่ยง 5 ประการ ที่สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยได้มากที่สุดในอีกสองปีข้างหน้า ดังนี้
- อันดับที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic downturn)
- อันดับที่ 2 ปัญหามลพิษในอากาศ น้ำ ดิน (Pollution)
- อันดับที่ 3 การขาดแคลนแรงงาน (Labour shortage)
- อันดับที่ 4 หนี้ครัวเรือน (Household debt)
- อันดับที่ 5 ความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่ง และรายได้ (Inequality)
ซึ่งโดยสรุปในรายงานยังระบุว่า เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่กำลังเติบโตในลักษณะที่ไม่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ครอบคลุมประเด็นทางสังคม กล่าวคือ มีการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในระหว่างที่โลกกำลังพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์