'บาฟส์ แนะรัฐบาลตั้ง 'SAF บอร์ด' หนุนเดินหน้าน้ำมันอากาศยานยั่งยืน
“บาฟส์” แนะรัฐบาลตั้ง “SAF บอร์ด” หนุนตลาดน้ำมันเครื่องบิน 2 แสนล้าน เป็นเชื้อเพลิงสะอาดช่วยเศรษฐกิจไทยหลายภาคส่วน ระบุหากรัฐบาลขยับช้าไทยปรับตัวไม่ทัน เป้าหมายการลดคาร์บอนไม่สำเร็จ ระบุหลายๆ ประเทศปรับตัวชัดสิงคโปร์เริ่มกำหนดสัดส่วนให้เครื่องบินใช้ SAF มากขึ้น
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ "บาฟส์" (BAFS) เปิดเผยระหว่างเปิดตัวสำนักข่าว Climate Center ของฐานเศรษฐกิจหัวข้อ “Net Zero : จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการบิน” ว่าอุตสาหกรรมการบินถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำให้โลกก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2050 เพราะหากการบินไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้มีการลดคาร์บอนได้ในที่สุดภาคการบินจะมีการปล่อยคาร์บอนมากถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก
ซึ่งปัจจุบันองค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดว่าสมาชิก ICAO ทุกประเทศต้องปล่อยคาร์บอนไม่เกินปริมาณที่เคยปล่อยในปี 2019
ทั้งนี้การปรับตัวของภาคการบินในการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำได้ยากกว่ายานพาหนะอื่นๆ ปัจจุบันเราเห็นการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรถ และเรือไปสู่การใช้เชื้อเพลิงที่เป็นไฮโดรเจน และไฟฟ้า แต่ภาคการขนส่งทางอากาศไม่ง่ายเนื่องจากมีกฎระเบียบ และเรื่องของความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้องสูงมาก เช่น เครื่องบินนั้นหากจะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้น ต้องมีการกักเก็บในอุณหภูมิต่ำมาก และต้องใช้ขนาดถังเชื้อเพลิงใหญ่มากกว่าน้ำมันปกติ 4 เท่า ส่วนหากเครื่องบินจะใช้แบตเตอรี่นั้นก็จะใช้ได้แค่เครื่องบินขนาดเล็กที่มีระยะการบินไม่ไกลนัก ทางออกของเชื้อเพลิงเครื่องบินคือ การส่งเสริมให้มีการใช้ น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ซึ่งน้ำมันชนิดนี้เป็นน้ำมันที่ทั่วโลกเริ่มส่งเสริมให้ใช้ในอากาศยาน เช่น ในสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้ใช้น้ำมัน SAF 70% ภายในปี 2050 สหรัฐ กำหนดมาตรการในการอุดหนุนผู้ผลิตน้ำมัน SAF ที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อแกลลอน
ส่วนสิงคโปร์กำหนดว่าเครื่องบินที่ให้บริการในสิงคโปร์ต้องมีการใช้น้ำมัน SAF ไม่น้อยกว่า 1% ตั้งแต่ปี 2026 และเพิ่มเป็น 3 – 5% ภายในปี 2030 แต่ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการสนับสนุน และส่งเสริมน้ำมันเครื่องบินประเภทนี้
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวว่า ในแต่ละปีตลาดของน้ำมันเครื่องบินแบบดั้งเดิม (Jet-A1) นั้นมีมูลค่าอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ในซัพพลายเชนน้ำมันอากาศยานที่ผ่านมาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในวงกว้างมากนัก แต่น้ำมัน SAF นั้นเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจไทยในวงกว้างทั้งเกษตรกร โรงแรม ร้านอาหาร ที่สามารถเอาน้ำมันใช้แล้วมาขายเพื่อแปรรูปในสถานีบริการผสมน้ำมันอากาศยานยั่งยืนซึ่งเรื่องนี้จะสำเร็จ และขับเคลื่อนได้ทั้งระบบจำเป็นที่ฝ่ายนโยบายจะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนน้ำมัน SAF โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเหมือนกับที่มีการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประสบความสำเร็จมาแล้ว
“ประเทศไทยต้องมีการผลักดันเรื่อง SAF อย่างจริงจัง โดยมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสอีกมากในการส่งเสริมน้ำมันประเภทนี้ ที่ผ่านมามีการวิจัย และทดลองใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น สบู่ดำ น้ำมันจากไขมันสัตว์ และการใช้น้ำมันพืชใช้แล้วมาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้กับไทยควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์