เคล็ดลับเลือกลงทุนกิจการอนาคตดี ด้วย ESG Rating

เรามักได้ยินคำกล่าวว่า หากระยะเวลาลงทุนยิ่งมากขึ้น โอกาสการขาดทุนจะยิ่งน้อยลง และโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีก็จะมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผมมองว่า ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้นในระยะยาว ต้องพิจารณาโอกาส และความเสี่ยงที่สินทรัพย์หรือกิจการนั้นมีในอนาคตด้วย โดยให้ความสำคัญทั้งตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการเงิน (Financial Measures) และตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านการเงิน (Non-financial Measures) อย่างการบริหารจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance) ที่มีนัยสำคัญ

การประเมินโอกาส และความเสี่ยงบนประเด็น ESG ในอนาคต นอกจากศึกษาข้อมูลที่สินทรัพย์หรือกิจการได้เปิดเผยไว้ ในรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน หรือเว็บไซต์ของกิจการ เรายังพิจารณาเพิ่มได้จาก ESG Rating ที่จัดทำขึ้นโดยผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งปัจจุบัน มีหลายราย โดยผู้ให้บริการระดับโลกที่นักลงทุนคุ้นเคย ขณะที่ในไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็มีการจัดทำ SET ESG Rating ในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยประเมินคะแนน ESG ของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่สมัครใจเข้าร่วมประเมิน เป็นการยกระดับมาจากการประเมินที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ในรูปแบบการประเมินว่าบริษัทจดทะเบียนนั้นเข้าข่ายหุ้นยั่งยืนหรือไม่เพียงอย่างเดียว   

สำหรับ ESG Rating จะประเมินความสามารถของสินทรัพย์ และกิจการในการบริหารจัดการทั้งความเสี่ยง และโอกาสด้านประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญ โดยกิจการหรือสินทรัพย์ที่มีผลการประเมินที่ดี มักจะมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีการเปิดเผยข้อมูลผลการบริหารจัดการประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญ มีระบบการจัดการความเสี่ยงบนประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้ง หรือเหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG รวมทั้งมีการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง เข้าใจถึงความเสี่ยง และโอกาสด้าน ESG ที่สำคัญ

ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG Rating ได้ ได้แก่ นักลงทุนทั่วไป  นักลงทุนสถาบัน บริษัทที่ได้รับการประเมินหรือบริษัทที่สนใจบูรณาการประเด็น ESG ในการดำเนินธุรกิจ หน่วยงานกำกับ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เช่น ชุมชน หรือบุคคลทั่วไปที่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG เป็นต้น

เนื่องจากผู้ให้บริการ Third Party แต่ละรายมีวิธีการประเมิน (Methodology) และให้คะแนนที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนทั่วไป อาจใช้ข้อมูล ESG Rating จากหลายแหล่ง เพื่อให้ได้เห็นมุมมองที่ครอบคลุมสำหรับใช้คาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ และทิศทางด้าน ESG ของบริษัทในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืนได้

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยแพร่ในรายงาน ESG Investing : Practces, Progress and Challenges โดยระบุว่า ในการประเมินคะแนน ESG บางบริษัทอาจได้ Rating อันดับต้นๆ ของผู้ให้บริการประเมินรายหนึ่ง แต่ได้คะแนนต่ำกว่าในผู้ประเมินรายอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประเมินใช้ปัจจัยอะไรวัด ให้น้ำหนักปัจจัยใด นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพการตัดสินของนักวิเคราะห์ และการวัดผลนั้นได้รับผลจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทอย่างไร เป็นต้น

ขณะที่ สมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับสากล (CFA Institute) เผยแพร่บทความ Do Better ESG Ratings Boost Bond Holders? ซึ่งผู้เขียนบทความสร้างกลุ่มตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐ ที่ได้รับการจัดอันดับ ESG และเสนอขายตราสารหนี้ต่อสาธารณะ โดยที่ตราสารหนี้ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 และ 2568 โดยคัดเลือกผู้ออกตราสารหนี้ 10 ราย ใน 11 กลุ่มธุรกิจที่กำหนดไว้ใน S&P 500 และได้นำผลตอบแทนมาปรับตามความเสี่ยงแล้ว ด้วยการหักลบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่ครบกำหนดใกล้เคียงกันออกจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ขององค์กรในปัจจุบัน การทดลองทำขึ้นวันที่ 6-7 เม.ย.2566 และนำคะแนน ESG มาจาก Sustainanalytics

ผลลัพธ์คือ บริษัทที่มีคะแนน ESG ดีกว่าค่าเฉลี่ย จะมีส่วนต่างเครดิตที่ดีขึ้น และการจัดอันดับ ESG ที่ดี ยังมีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นอาจนำคะแนน ESG มาใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้ได้

เมื่อคะแนน ESG Rating มีส่วนแสดงโอกาส และความเสี่ยงในอนาคตของสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ ผมก็แนะนำให้ผู้ลงทุนพิจารณา ESG Rating ครับ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์