โลกผลาญทรัพยากรฯ 6 ปี เทียบเท่ากับทั้งศตวรรษที่ 20
“ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย” โลกผลาญทรัพยากร 6 ปีเทียบเท่ากับทั้งศตวรรษที่ 20 สะท้อนระบบเศรษฐกิจเดิมอยู่ไม่ได้ นอกจากหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
งาน World Circular Economy Forum 2024 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ 15 – 18 เมษายน ที่ผ่านมา ตอกย้ำวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากลายทางชีวภาพ มีต้นตอมาจากการใช้ทรัพยากรมากเกินไป สหภาพยุโรปเตรียมผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลก
Janez Potocnik ประธานโครงการ International Resource Panel แห่ง United Nations Environment Programme หรือ UNEP กล่าวว่าโลกกำลังมองปัญหาด้านเดียว มองว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ต้นเหตุทั้งหมดมาจากความผิดเพี้ยนของระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการผลิตมากเกินไปจนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลเป็นเงาตามตัว
แม้เราจะรณรงค์เรื่องโลกร้อนกันอย่างเข้มข้น แต่การผลิต และบริโภคที่เดินหน้าไปแบบเดิม ทำให้เรายังคงทำลายสถิติใหม่เกือบทุกด้านในปี 2023 ที่ผ่านมา อาทิ ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงขึ้นเป็น 37,550 ล้านเมตริกตัน อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นจากระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม 1.48 องศาเซลเซียส และใช้เงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลทั่วโลกถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.1% ของ GDP โลก
รายงาน Circularity Gap Report 2024 ชี้ว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โลกขุดทรัพยากรธรรมชาติไปมากกว่า 5 แสนล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ทรัพยากรตลอดศตวรรษที่ 20 สะท้อนว่าเรายังคงพึ่งพาเศรษฐกิจแบบเส้นตรงมากกว่า 90% และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเพียงแค่ 8%
ระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตสินค้า เมื่อเลิกใช้แล้วจะถูกทิ้งไป ไม่นำกลับมาใช้อีก (take-make-dispose) ซึ่งทรัพยากรกว่า 90% บนโลกนี้ไม่มีการนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ และจะส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้น จากรายงานของ World Economic Forum ในระหว่างปี 2002 และปี 2010 พบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นกว่า 150%
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ
“ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเหล่าประเทศอุตสาหกรรม เป็นความสำเร็จที่สูญเปล่าและไม่เป็นธรรม เราต้องเลิกภูมิใจกับการครอบครองทรัพยากรแต่กลับใช้อย่างไร้ค่า เพียงเพื่อตอบโจทย์ตัวเลข GDP โลกต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ในการตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ” Janez กล่าว
ด้าน Jutta Urpilainen คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ประกาศสร้างศูนย์ทรัพยากรหมุนเวียนแห่งสหภาพยุโรป หรือ EU Circular Economy Resource Centre พร้อมเปิดดำเนินการปลายปี 2024 โดยจะให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศที่สาม เพื่อผลักดันนโยบาย และโมเดลธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลก ศูนย์แห่งนี้จะได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมูลค่า 15 ล้านยูโร พร้อมกันนี้ ยังทุ่มงบประมาณกว่า 40 ล้านยูโร ในโครงการ SWITCH to Circular Economy ในทวีปแอฟริกา ระยะเวลา 5 ปี
ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับแผนงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CEAP) ตามเป้าหมายของ European Green Deal ที่ต้องการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการบริโภค และใช้วัสดุหมุนเวียนให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในสิบปีข้างหน้า
ขณะที่ Andrea Liverani ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกมองว่า เม็ดเงินมหาศาลมีอยู่แล้วในระบบที่เพียงพอต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่สถาบันการเงินยังไม่กล้าเสี่ยงกับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ รัฐบาลต้องเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ด้วยการปฏิรูปทางการคลังขนานใหญ่ พร้อมเสนอแนะ 3 ข้อที่จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้มากขึ้น
1. เก็บภาษีขยะให้มากขึ้น ปัจจุบันหลายประเทศใช้พื้นที่ว่างเปล่าในการฝังกลบขยะโดยไม่มีใครต้องจ่าย เป็นการประเมินต้นทุนของการใช้ที่ดินต่ำเกินไป ต้องเพิ่มต้นทุนการสร้างขยะให้มากขึ้น
2. ปรับปรุงระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT การจัดเก็บภาษีบนสินค้าขั้นสุดท้าย ยิ่งทำให้รัฐสนับสนุนผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าใหม่ออกมาเรื่อยๆ แม้จะมีการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่แต่ผู้ผลิตก็ถูกเก็บภาษี VAT อยู่ดี ซึ่งไม่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการหมุนเวียนทรัพยากร
3. เปลี่ยนจากการเน้นจัดเก็บภาษีรายได้ มาเป็นการเก็บภาษีจากการใช้ทรัพยากรใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดจากใช้วัสดุรีไซเคิลมาทดแทนวัสดุใหม่ เนื่องปัจจุบัน วัสดุใหม่ยังมีราคาถูกกว่า และรัฐบาลทั่วโลกให้เงินอุดหนุนผลาญทรัพยากรใหม่กว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 1.7% ของ GDP โลก
“เรามองทรัพยากรธรรมชาติเป็นของฟรีไม่ได้อีกต่อไป ถ้าอยากได้พลังงานสะอาด ต้องเริ่มเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้หมุนเวียนได้เสียก่อน ไม่เช่นนั้น เราก็จะเดินหน้าผลิตต่อไปจนใช้ทรัพยากรหมดอยู่ดี” Andrea กล่าว
บนเวทีเสวนาการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการบริโภคที่ยั่งยืน ในงาน WCEF 2024 ครั้งนี้ มีตัวแทนเยาวชนไทย ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการใช้ถุงพลาสติกจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารริมทาง พบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้พลาสติกเฉลี่ยถึงวันละ 8 ใบ และเป็นความนิยมของร้านค้า มักให้ถุงพลาสติกเยอะเกินจำเป็น เพื่อแสดงถึงความมีน้ำใจต่อลูกค้า พร้อมตั้งคำถามว่า ควรเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมร้านค้าหรือลูกค้าก่อนดี
ผู้ร่วมเสวนาเสนอแนะว่า ควรทำไปพร้อมกันทั้งสองฝั่ง อาจเริ่มจากเพิ่มทางเลือกของที่ทดแทนถุงพลาสติกได้หรือเพิ่มพื้นที่ให้แบ่งกันนั่งรับประทาน จะเห็นว่ามีลูกค้าที่พร้อมเลือกวิธีลดถุงแน่นอน
มีงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากมาย ชี้ว่า เหตุผลอันดับหนึ่งที่คนจะยอมเปลี่ยนพฤติกรรมรักษ์โลกมากขึ้น คือ เมื่อรู้ว่าคนข้างๆ ทำ เช่น จะยอมติดโซลาร์เซลล์เมื่อเห็นเพื่อนบ้านเริ่มติดกันเยอะ ดังนั้น แม่ค้าจะยอมแจกถุงน้อยลงเมื่อเห็นร้านรอบข้างไม่แจก
การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเงินมาจูงใจ ต้องค่อยๆ สร้างบรรทัดฐานรูปแบบใหม่ หากเร่งรีบบังคับใช้กฎหมาย จะไม่มีความยั่งยืนกับภาคประชาชน เพราะไม่สามารถตรวจจับคนจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาพลาสติกโลก (International Plastic Treaty) กำลังเร่งให้ทุกประเทศแบนพลาสติกที่ไม่จำเป็น รัฐต้องรีบหาทางเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมให้กับร้านค้าที่อาจได้รับผลกระทบนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์