EXIM BANK หนุนส่งออกไทยทำ “กรีนโปรดักส์” ข้ามกำแพงภาษี คาดส่งออกปี 67 โต 3%

EXIM BANK หนุนส่งออกไทยทำ “กรีนโปรดักส์” ข้ามกำแพงภาษี คาดส่งออกปี 67 โต 3%

EXIM BANK พัฒนาสินเชื่อสีเขียว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หนุนผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจตลอดซัพพลายเชน พัฒนาสินค้ารักษ์โลก ก้ามข้ามกำแพงภาษี เร่งส่งออกไทยปีนี้โต 3%

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมในการส่งออกไปตลาดสำคัญของโลกมีมากถึง 18,000 มาตรการ อีกทั้งกำแพงสีเขียวเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 16% 

โดยตัวอย่างมาตรการที่บังคับใช้ใน 5 ตลาดส่งออกหลัก ประกอบด้วย

1.สหรัฐ เช่น ร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ปี 2568

2.สหภาพยุโรป (EU) เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งเริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่ ต.ค.2566 ในกลุ่มสินค้านำร่อง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน ก่อนจะบังคับใช้เต็มรูปแบบวันที่ 1 ม.ค.2569

3.จีน เช่น ห้ามใช้พลาสติที่ย่อยสลายเองไม่ได้

4.ญี่ปุ่น เช่น ธุรกิจที่มีบรรจุภัณฑ์ต้องจ่ายค่ารีไซเคิล

5.อินเดีย เช่น ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ขณะที่ ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า ในปี 2564 สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ที่ 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี (15.4%) ญี่ปุ่น (15%) จีน (10.4%) และเกาหลีใต้ (10.2%)

 “ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลก โดยยกระดับคุณภาพและมูลค่าสินค้าเพื่อเจาะตลาดที่มีความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ Gadgets และสินค้ารักษ์โลก”  EXIM BANK หนุนส่งออกไทยทำ “กรีนโปรดักส์” ข้ามกำแพงภาษี คาดส่งออกปี 67 โต 3%

สินเชื่อหนุนกรีนซัพพลายเชน

โดยในปี 2567 EXIM BANK จึงตั้งเป้าเดินหน้า Go the Extra Mile โดยชูบทบาทการเป็น Green Development Bank พัฒนานวัตกรรมสินเชื่อสีเขียว (Greenovation) ที่มุ่งยกระดับสินค้าส่งออกของไทยเป็นสินค้ารักษ์โลกหรือ Green Products 

รวมทั้งการสร้างอีโคซิสเต็มการส่งออกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (Green Export Supply Chain)

โดย EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ Green Export Supply Chain  อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ Suppliers และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอดซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ได้รับ 

“EXIM BANK ถือเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงิน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ครบทุก Scope ทั้ง 1-2-3 กล่าวคือ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียน และการช่วยให้ Suppliers ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” EXIM BANK หนุนส่งออกไทยทำ “กรีนโปรดักส์” ข้ามกำแพงภาษี คาดส่งออกปี 67 โต 3%

คาดส่งออกไทยขยายตัว 3%

นายรักษ์ กล่าวต่อว่า การส่งออกไทยในปี 2567 โอกาสขยายตัวถึง 3% ครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน รถยนตืไฟฟ้า อุปกรณ์ Gadgets และสินค้ารักษ์โลก ที่มีมูลค่าเพิ่มและผู้บริโภคทั่วโลกยินดีจับจ่าย

ด้วยปัจจัยสนับสนุนจาก เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ ด้วยราคาน้ำมันโลกและราคาโภคภัณฑ์ต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวสูงขึ้นตาม

นอกจากนี้ ไทยซึ่งไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้ง และมีจุดยืนที่เป็นกลางจึงได้อานิสงค์การค้าจากความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสินค้าอาหารแปรรูป

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวช้าของภาคการผลิต และหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

ขยายพอร์ตสีเขียว

สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค. 2567) EXIM BANK อนุมัติสินเชื่อใหม่ 5,853 ล้านบาท มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 174,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,474 ล้านบาท หรือ 7.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันที่เป็น ESG 67,310 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.64% ของยอดทั้งหมด และเพิ่มขึ้นถึง 55.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็น SMEs จำนวน 12,475 ล้านบาท 

ขณะที่มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อการลงทุน 127,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 50,210 ล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปกลุ่มประเทศ CLMV และ New Frontiers ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในกลุ่ม CLMV และ New Frontiers จำนวน 43,257 ล้านบาท 

นอกจากนี้ EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจบริการประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 54,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้า 5,607 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs มากถึง 81.15%

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จำนวน 8,600 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567 เท่ากับ 4.99% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 15,972 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 185.72% 

ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงาน 805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท