'กฟผ.' ลุยนวัตกรรมปั้นธุรกิจใหม่ รับมือเทคโนโลยีดิสรัปชันกิจการไฟฟ้า
กฟผ. เดินหน้าปรับกลยุทธ์รับมือ "เทคโนโลยีดิสรัปชัน" ด้วยการนำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะมาช่วยเสริมศักยภาพระบบผลิต - ส่งไฟฟ้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมพลังงานใหม่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว "เทคโนโลยีดิสรัปชัน" ที่เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ทุกธุรกิจต่างต้องปรับตัวอย่างหนักหน่วงไม่เว้นแม้แต่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
กฟผ. ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นยักษ์ใหญ่ดูแลความมั่นคงการผลิตและจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ จึงต้องส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆ พร้อมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ที่นอกจากจะดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าแล้ว ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศด้วย เพราะอัตราค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จากภารกิจนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า กฟผ. ได้มีบทบาทหลักตามพันธกิจในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศโดยมีแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้
- ความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้า โดยการพัฒนาและจัดหาโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อความมั่นคง รวมทั้งสร้างความมั่นคงตั้งแต่กระบวนการจัดหาเชื้อเพลิงทางก๊าซธรรมชาติและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดโดยคำนึงถึงต้นทุนเป็นสำคัญ
- ระบบส่งไฟฟ้าการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง การเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าไปยังภูมิภาคต่างๆ การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับ พลังงานหมุนเวียน
- ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนา Grid Modernization เพื่อรองรับความผันผวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับระบบไฟฟ้าของประเทศ
- พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนรูปแบบผสมผสานซึ่งมีทั้งพลังงานหมุนเวียนต่างชนิดกัน และพลังงานหมุนเวียนควบคู่กันกับระบบกักเก็บพลังงานและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากตามโครงการฝ่ายโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐบาล
- การพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อสร้าง Solution ด้าน Smart Energy สำหรับบริการใหม่ของ กฟผ. ในอนาคต
กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์การดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับทุกส่วนขององค์กร ทั้งกระบวนการทางธุรกิจหลัก กระบวนการสนับสนุนสร้างบริการใหม่ๆ และพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการใช้ พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเดินหน้าสู่เป้าหมาย EGAT Carbon neutrality ภายในปี 2050
อีกทั้งยังใช้ประโยชน์กับข้อมูลและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความมั่นคงปลอดภัย มีธรรมาภิบาล และทันสมัย ร่วมกับปลูกฝังพฤติกรรมการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคลากร โดยส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร พร้อมกับการพัฒนาความรู้และทักษะให้เท่าทันและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
จากความมุ่งมั่นในการ ก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิตอล กฟผ.ได้รับ 4 รางวัลในงาน "Prime Minister Awards Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2023" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ประกอบด้วย
- ใบประกาศเกียรติคุณสำหรับหน่วยงานที่ดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเลิศ
- รางวัลชมเชย ประเภทหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศด้านพลังงานและสาธารณูปโภค
- รางวัลประเภทหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ สาขาการดำเนินการด้านการพัฒนาศักยภาพ
- รางวัลประเภทหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ สาขาการดำเนินความร่วมมือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น
ล่าสุด กฟผ. ได้นำเสนอผลงานเด่นด้านนวัตกรรมในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระหว่างวันที่ 2 - 6 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิจัย นักประดิษฐ์ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าร่วม
ภายในงาน กฟผ. ได้นำ 6 ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีระดับประเทศและนานาชาติร่วมจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลที่สนใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งต่อแรงบันดาลใจและจุดประกายให้ผู้ที่เข้าชมงาน เห็นถึงความสำคัญของการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะและไอโอที ควบคุมการรับส่งไฟฟ้าข้ามประเทศ เนื่องจากระบบส่งไฟฟ้าของไทยบางส่วนเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างได้ทั้งสองประเทศ กฟผ. จึงนำนวัตกรรมนี้มาใช้สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ
- เครื่องช่วยขึ้น - ลงที่สูงสำหรับช่างสาย ซึ่งพร้อมต่อยอดให้บริการแก่โครงข่ายระบบไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน
- ระบบบริหารจัดการพลังงาน (ENZY One Platform) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในสถานที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการทดสอบในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
- EGAT EV Business Solutions นวัตกรรมรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตแบบครบวงจร ทั้งสถานีชาร์จ Elex by EGAT Application: EleXA และระบบ BackEN EV ตัวช่วยบริหารจัดการสำหรับผู้ที่สนใจลงทุน ซึ่งมีสถานีชาร์จในประเทศเพื่อนบ้านในเครือข่ายแล้วในปัจจุบัน
- Water Solution Drone การบริการตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติโดยอากาศยานไร้คนขับ
- ระบบการตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยการประมวลผลภาพ
นอกจากนี้ยังได้นำ 8 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติประจำปี 2566 เข้าร่วมประกวด 2024 Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition (IPITEx 2024) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพด้วย
ยกตัวอย่างการพัฒนาต้นแบบ หอฟอกอากาศสำหรับชุมชน ด้วยเทคนิคพลาสมา เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแบบปรับความเร็วรอบ (ต้นแบบ) ขนาด 100 kW เทคนิคการตรวจสอบคุณภาพรอยต่อสายพานขนส่งถ่านหิน และเครื่องมือชุด Slide Pump เป็นต้น
กฟผ. ได้ปรับกลยุทธ์การทำงานด้วยการนำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะมาช่วยเสริมศักยภาพระบบผลิต - ส่งไฟฟ้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมพลังงานใหม่ พร้อมส่งเสริมและผลักดันการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สังคมและประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน