ท่องเที่ยวอย่างไร ไม่ทำลายระบบนิเวศ "ผีเสื้อ"
"ผีเสื้อ" แมลงที่เติมสีสันสวยงามให้กับธรรมชาติ และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ถือเป็น “ตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพ” แต่ปัจจุบัน พบว่า ผีเสื้อกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกร้อน และในบางครั้งถูกรบกวนจากการท่องเที่ยว
KEY
POINTS
- ผีเสื้อ เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อีกทั้ง ยังเป็น “ตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพ”
- เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์ ช่วยในการผสมเกสรแก่พรรณไม้ต่าง ๆ ช่วยให้ระบบนิเวศมีความสมดุล รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
- การดูแลรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อให้ยังคงสภาพที่ดี เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชมผีเสื้อที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ
“ผีเสื้อ” เป็นแมลงหรือสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายมากเป็นอันดับ 3 รองจาก ด้วง และ ผึ้ง ต่อ แตน ตามลำดับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อ้างอิงจาก หนังสือบันทึกผีเสื้อ 2 ระบุว่า ในโลกมีผีเสื้อประมาณ 150,000-170,000 ชนิด ประเมินว่าเป็นผีเสื้อกลางวัน (Butterfiles) และผีเสื้อบินเร็ว (Skippers) ประมาณร้อยละ 10 (ประมาณ 15,000 ชนิด) ส่วนที่เหลือเป็นผีเสื้อกลางคืน (Moths)
ในประเทศไทย มีผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อบินเร็วที่สามารถจำแนกชนิดได้ประมาณ 1,200 ชนิด และมีหลายชนิดที่ได้สูญพันธ์ุไปแล้ว เช่น ผีเสื้อภูฐาน (สมิงเชียงดาว) และมีอีกหลายชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธ์ ได้แก่ ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
ผีเสื้อบางชนิดในธรรมชาติพบเห็นได้ยาก และมีจำนวนน้อย บางชนิดสูญพันธุ์ หรือไม่มีข้อมูลการคงอยู่ของผีเสื้อในธรรมชาติ ทั้งนี้ จึงควรร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อให้ผีเสื้อเหล่านี้ดำรงเผ่าพันธุ์ มีชีวิตอยู่บนโลกที่สวยงามของเราตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ 'แมลง' สูญหายจากภัย 'โลกร้อน' ความน่ากังวล ที่ส่งผลต่อมนุษย์
- เปิดภาพ 'ปะการังฟอกขาว' 10 วันตายด่วน พังพินาศย่อยยับ โลกร้อน 'ทะเลเดือด'
- ‘เนปาล’ จำกัดจำนวนนักปีนเขา ‘เอเวอเรสต์’ หลังสร้างปัญหา ‘ขยะ-สิ่งแวดล้อม’
ว่ากันว่า "ผีเสื้อ" เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน ประเมินว่าผีเสื้อกลางวันมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 40-50 ล้านปีที่แล้วมา นอกจากนี้ ผีเสื้อเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์ และระบบนิเวศ เช่น ช่วยในการผสมเกสรแก่พรรณไม้ต่าง ๆ ช่วยให้ระบบนิเวศมีความสมดุล และเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ผีเสื้อ ตัวแทนความหลากหลายทางชีวภาพ
ผีเสื้อ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ โดยเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อีกทั้ง ยังเป็น “ตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพ” เพราะผีเสื้อแต่ละชนิดมักมีแหล่งที่อยู่อาศัยและกินอาหารที่แตกต่างกัน เมื่อผีเสื้อตัวเมียถูกผสมพันธุ์จะวางไข่บนพืชที่เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อเท่านั้น เมื่อไข่ฝักออกมาเป็นตัวหนอน หนอนจะกัดกินพืชนั้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตจนกระทั่งกลายเป็นดักแด้ถึงจะหยุดกิน และพัฒนากลายเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยซึ่งดูดน้ำหวานของดอกไม้เป็นอาหาร
โดยมีบางชนิดกินผลไม้เน่า น้ำเลี้ยงต้นไม้ และมูลสัตว์เปียก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผีเสื้อนั้นจะกินอาหารที่เฉพาะเจาะจง หากพืชอาหารของผีเสื้อชนิดนั้นหมดไปหรือสูญพันธุ์ผีเสื้อชนิดนั้นก็จะมีโอกาสที่สูญพันธุ์ไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ผีเสื้อยังเป็นผู้ช่วยผสมเกสร (pollinators) ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยขยายพันธุ์พืชที่เป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น โดยเฉพาะสัตวเลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงเป็นอาหารหลักของมนุษย์ด้วย นั่นหมายความว่าพื้นที่ใดที่มีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของผีเสื้อ จะพบเห็นผีเสื้อที่หลากหลายชนิด แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ภัยคุกคาม ผีเสื้อ
ปัจจุบัน ผีเสื้อกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกร้อน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ บีบีซี เผยผลการวิจัยของ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีผลต่อความอยู่รอดของหนอนผีเสื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปถึงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการผสมเกสรดอกไม้ รวมทั้งบรรดาสัตว์ที่กินพวกมันเป็นอาหาร
ดร.เอสเม แอช-เจปสัน ผู้ทำวิจัยเรื่องนี้บอกว่า ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หนอนผีเสื้อเหล่านี้อยู่ยากมากขึ้น และมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง เนื่องจาก หนอนผีเสื้อมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิได้ค่อนข้างแย่ เช่น เมื่ออยู่ในที่อุณหภูมิเย็น มันไม่สามารถทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น หรือ ทำให้ร่างกายเย็นลงเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นได้ หมายความว่า คลื่นความร้อน ทำให้พวกมันจะต้องติดอยู่บนต้นพืชที่พวกมันใช้กินเป็นอาหาร ก่อนจะถูกแดดเผาจนสุก
ท่องเที่ยว ไม่ทำลายผีเสื้อ
ขณะเดียวกัน การดูแลรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อให้ยังคงสภาพที่ดี เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชมผีเสื้อที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ สามารถทำได้ ดังนี้
- ไม่จับ สัมผัส
- ไม่ให้อาหารหรือรบกวนผีเสื้อ
- ไม่เก็บผีเสื้อหรือปีกผีเสื้อกลับมา
- เดินทางด้วยความเงียบสงบ
- ระมัดระวังไม่เดินเหยียบผีเสื้อ
- ไม่ทำให้แหล่งน้ำเกิดความสกปรก
- ไม่ส่งเสียงรบกวน
- สวมใส่เสื้อผ้าสีสันกลมกลืนกับธรรมชาติ
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
- ลดการเกิดขยะด้วยการใช้เท่าที่จำเป็น แยกประเภท และนำไปให้ถูกที่
- ตลอดจนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่อย่างเคร่งครัด
อ้างอิง : มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , บีบีซี , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช