‘ไมโครพลาสติก’ ปล่อยสารเคมี แม้จะอยู่ในกระเพาะนกก็ตาม
การศึกษาใหม่ พบว่า “พลาสติก” ปล่อยสารพิษออกมาเมื่ออยู่ในน้ำ ไม่เว้นแม้แต่เมื่อพลาสติกอยู่ในกระเพาะของนก ซึ่งเป็นอันตรายและทำให้เป็นโรคพลาสติกซิส ติดเชื้อจนไม่อยากกินอาหาร
KEY
POINTS
- เมื่อพลาสติกพัดลงแหล่งน้ำ มันจะค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลืองจากการโดนแสงแดดเป็นระยะเวลานาน หลังจากผ่านไปได้ 6 เดือน น้ำบริเวณที่มีขยะลอยอยู่ก็จะเริ่มขุ่น แสดงว่าพลาสติกเหล่านี้กำลังปล่อยบางสิ่งบางอย่างลงสู่น้ำในขณะที่มันย่อยสลาย
- นักวิจัยพบว่าสัตว์ทะเล 1,288 สายพันธุ์กินพลาสติก เพิ่มขึ้นเป็น 1,565 สายพันธุ์ รวมถึงนกบนบกด้วย
- นกทะเลประมาณ 44% กินพลาสติก บางชนิดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะพลาสติกเหล่านี้มักมีขนาดใหญ่เกินที่จะขับถ่ายออกมาได้ง่าย และไม่สามารถย่อยสลายได้เอง
ในแต่ละวันมี “ขยะพลาสติก” ถูกทิ้งลงมหาสมุทรมากถึง 20 ล้านชิ้น เมื่อ “พลาสติก” ลอยอยู่ในน้ำเป็นเวลา ๆ ก็จะเริ่มแตกตัวกลาย “ไมโครพลาสติก” พร้อมปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำนั้น ๆ ซึ่งพลาสติกเหล่านี้สามารถปล่อยสารพิษได้ในแหล่งน้ำทุกที่ รวมไปถึงในท้องของนก
ดร.โจบี ราซเซลล์ ฮอลลิส จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ทำงานมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของมลพิษพลาสติกต่อนกทะเล กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่ได้เห็นผลกระทบที่พลาสติกทำต่อน้ำ “เราสนใจจริง ๆ ว่าพลาสติกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และพลาสติกทำอะไรต่อน้ำบ้าง”
เมื่อพลาสติกพัดลงแหล่งน้ำ มันจะค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลืองจากการโดนแสงแดดเป็นระยะเวลานาน หลังจากผ่านไปได้ 6 เดือน น้ำบริเวณที่มีขยะลอยอยู่ก็จะเริ่มขุ่น แสดงว่าพลาสติกเหล่านี้กำลังปล่อยบางสิ่งบางอย่างลงสู่น้ำในขณะที่มันย่อยสลาย เพราะพลาสติกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกัน หากนกกินพลาสติกเหล่านี้เข้าไปและไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ เมื่อพลาสติกอยู่ในท้องนานพอ พลาสติกก็จะปล่อยสารเคมีต่าง ๆ ออกมา
นกทะเลกินพลาสติก
นกทะเลประมาณ 44% กินพลาสติก บางชนิดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะพลาสติกเหล่านี้มักมีขนาดใหญ่เกินที่จะขับถ่ายออกมาได้ง่าย และไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการและโรคใหม่ ๆ เช่นภาวะพลาสติกซิส โรคที่เกิดจากไมโครพลาสติกเข้าไปติดในทางเดินอาหารของนก พวกมันจะรู้สึกอยากอาหารลดลงและการดูดซึมสารอาหารลดลง เนื่องจากมีเนื้อที่จำกัดในกระเพาะอาหารที่มีแผล จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ในกรณีที่รุนแรงจะนำไปสู่การติดเชื้อจากปรสิต ที่นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ มากมาย
“แต่ปัญหาคือจากมุมมองทางเคมี กรดในกระเพาะอาจจะปล่อยสารเคมีออกมาในปริมาณเล็กน้อย แต่ก็สามารถทำให้เป็นพิษได้แล้ว ดังนั้นเราจึงอยากลองคิดดูว่ากระบวนการนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร” ดร.ฮอลลิสกล่าว
นักวิทยาศาสตร์ทำการจำแนกพลาสติกประเภทต่าง ๆ ที่พวกนกทะเลกิน รวมถึงวัดขนาด รูปร่าง และสีของพลาสติก เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมนกทะเลเข้าใจผิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร และอะไรที่เป็นอันตรายต่อนกมากที่สุด เมื่อพวกมันกินพลาสติกเหล่านี้เข้าไป
ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง นักวิจัยพบว่าสัตว์ทะเล 1,288 สายพันธุ์กินพลาสติก เพิ่มขึ้นเป็น 1,565 สายพันธุ์ รวมถึงนกบนบกด้วย และเนื่องจากมลพิษจากพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการผลิตพลาสติก ที่น่าสนใจคือนกบางสายพันธุ์เลือกกินพลาสติกบางชนิด นกจมูกหลอดเท้าเปลือย (flesh-footed shearwater) จะเลือกกินเฉพาะพลาสติกที่มีความหนาแน่นต่ำ เช่น โพลีเอทิลีน ซึ่งอาจเป็นนกชนิดนี้หาอาหารใกล้ผิวมหาสมุทร ซึ่งมีพลาสติกลอยอยู่เท่านั้น
ขณะที่การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำการศึกษานกทะเลมากกว่า 7,000 ตัวจาก 77 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน พบว่า 1 ใน 4 ของนกทะเลมีความเสี่ยงสัมผัสพลาสติกในพื้นที่ทะเลหลวง (high seas) ซึ่งเป็นทะเลที่ไม่ใช่น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐใด โดยนกจมูกหลอดส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสพลาสติก
แม้กระทั่งนกจมูกหลอดยักษ์ขั้วโลกใต้ที่ทำรังบนเกาะภูเขาไฟห่างไกลจากผู้คน ที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก จนถูกขนานนามว่าเกาะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ (Inaccessible Island) ก็ยังมีโอกาสสัมผัสกับพลาสติก ส่วนสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่ำในการสัมผัสพลาสติก เช่น นกจมูกหลอดขั้วโลกเหนือ นกนางแอ่นหิมะ ก็เคยพบว่ากินพลาสติก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทรก่อให้เกิดปัญหากับนกทะเลทั่วโลก แม้จะอยู่นอกพื้นที่ที่ไม่ได้มีพลาสติกมากก็ตาม
ขณะที่ทีมนักวิจัยของ ดร.ฮอลลิสยังได้ทำการวิจัยด้วยการทิ้งพลาสติกลงในแหล่งน้ำทดลอง เพื่อดูว่าพลาสติกจะสลายตัวและปล่อยสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายออกมาในมหาสมุทรได้อย่างไร หลังจากทำการทดลองมา 6 เดือน ดร.ฮอลลิสกล่าวว่าน้ำในตอนนี้ไม่สะอาดอีกต่อไป โดยเขาเรียกมันว่า “ซุปพลาสติก” และกล่าวเสริมว่า “ค่อนข้างตกใจที่เห็นว่า น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด”
ที่มา: BBC, Independent, The Conversation