‘มหาสมุทร’ ทั่วโลกร้อนจัด ขาดออกซิเจน เกิดภาวะทะเลเป็นกรด

‘มหาสมุทร’ ทั่วโลกร้อนจัด ขาดออกซิเจน เกิดภาวะทะเลเป็นกรด

การวิจัยใหม่พบว่า “มหาสมุทร” กำลังเจอความเสี่ยงใหญ่ 3 ด้านทั้งอุณหภูมิผิวทะเลสูง ขาดออกซิเจนในน้ำ ภาวะทะเลเป็นกรด ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการตัดไม้ทำลายป่า

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันประมาณ 20% ของพื้นผิวมหาสมุทรในโลก มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทั้ง 3 ประการ ได้แก่ ความร้อนจัด การสูญเสียออกซิเจน และทะเลเป็นกรด ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการตัดไม้ทำลายป่า โดยช่วงบริเวณ 300 เมตรจากผิวน้ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
  • ผู้เขียนการศึกษานี้ เตือนว่ามหาสมุทรในโลกกำลังถูกผลักให้เข้าสู่สภาวะใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรากำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบของปรกฏการณ์นี้แล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว 
  • การที่อุณหภูมิน้ำทะเล ค่าpH หรือออกซิเจน เปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหันจะส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล หากพวกมันไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะสุดขั้วเหล่านี้ได้ เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น จะทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลให้เปลือกของสัตว์ทะเลละลาย จนมหาสมุทรขาดออกซิเจน

8 มิถุนายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันทะเลโลก” หรือ “วันมหาสมุทรโลก” (World Ocean Day) ตามมติที่ 63/111 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2551 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยว กับความสำคัญของท้องทะเล และร่วมกันอนุรักษ์มหาสมุทร

แต่ปัจจุบันสภาพมหาสมุทรของเรากำลังประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสซูริค หรือ ETH Zurich ตีพิมพ์ใน AGU Advances พบว่า มหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคามใหญ่” ถึง 3 อย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จากความร้อนจัด การสูญเสียออกซิเจน และความเป็นกรด 

สภาพอากาศสุดขั้วเริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และสร้างความเครียดอย่างมหาศาลต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลจำนวนมากทั่วโลก 

ปัจจุบันประมาณ 20% ของพื้นผิวมหาสมุทรในโลก มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทั้ง 3 ประการ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการตัดไม้ทำลายป่า โดยช่วงบริเวณ 300 เมตรจากผิวน้ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

โจเอล หว่อง นักวิจัยจาก ETH Zurich ผู้เขียนหลักของการศึกษานี้ เตือนว่ามหาสมุทรในโลกกำลังถูกผลักให้เข้าสู่สภาวะใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรากำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบของปรกฏการณ์นี้แล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยหว่องได้ยกตัวอย่างถึง “ก้อนความร้อน” (Heat Bolb) พื้นที่ความร้อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นในมหาสมุทรที่ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกต้องสูญพันธุ์

“เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการประมงทั่วโลก” หว่องกล่าวเสริม

งานวิจัยดังกล่าววิเคราะห์การเกิดความร้อนจัด การลดออกซิเจน และการทำให้เป็นกรด จนพบว่าเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจะสามารถอยู่ได้นานถึง 30 วัน โดยพื้นที่เขตร้อนและบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษจากภัยคุกคามทั้ง 3 ประการ

นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศตื่นตระหนกกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในมหาสมุทร จนอยู่ในระดับ “ผิดปรกติ” ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แอนเดรีย ดัทตอน นักธรณีวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันกล่าวว่า 

“เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกจะทำให้เกิดอะไรได้บ้าง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในปีนี้เราถึงกังวลเรื่องพายุเฮอริเคน มันค่อนข้างน่ากลัว”

การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล มหาสมุทรดูดซับความร้อนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้อากาศบนบกไม่ร้อนจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันใต้ทะเลกลับอุ่นขึ้น ทำให้ปลาและสัตว์ทะเลต่าง ๆ ย้ายถิ่นที่อยู่ ไปยังพื้นที่เย็นกว่า เหมาะสมมากกว่า 

ขณะเดียวกัน การที่อุณหภูมิน้ำทะเล ค่าpH หรือออกซิเจน เปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหันจะส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล หากพวกมันไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะสุดขั้วเหล่านี้ได้ เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น จะทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลให้เปลือกของสัตว์ทะเลละลาย จนมหาสมุทรขาดออกซิเจน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลกำลังถูกบีบออกจากที่อยู่ของตนเอง ซึ่งอาจจะร้ายแรงถึงขั้นทำให้สิ่งมีชีวิต “สูญพันธุ์” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ดัตตันกล่าวว่าการรวมกันของระดับออกซิเจนที่ลดลง ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้น และความร้อนในมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน เมื่อประมาณ 252 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกประสบกับเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่รู้จักในชื่อ “การสูญพันธุ์ในยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก” (Permian-Triassic Extinction) หรือ “การตายครั้งใหญ่” (The Great Dying) ซึ่งกวาดล้างสิ่งมีชีวิตไปมากกว่า 95% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในช่วงเวลานั้น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่ได้มีเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งของแวดล้อมที่เกิดขึ้นในตอนนี้มีความคล้ายคลึงกับยุคเพอร์เมียน


ที่มา: Eco WatchThe Guardian