ใหญ่กว่าคาด! ผลกระทบโลกร้อนต่อเศรษฐกิจมหภาค

ใหญ่กว่าคาด! ผลกระทบโลกร้อนต่อเศรษฐกิจมหภาค

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ล่าสุดศึกษาพบว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก

นักวิจัยเศรษฐศาสตร์ได้ประมาณว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั่วโลก 1 องศาเซลเซียสจะนำไปสู่การลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) โลกถึง 12% ซึ่งมากกว่าการประมาณการก่อนหน้านี้ถึง 6 เท่า 

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นของ Adrien Bilal และ Diego R. Känzig ในชื่อ “The Macroeconomic Impact of Climate Change: Global vs. Local Temperature” ได้นำเสนอการวิเคราะห์ ที่ครอบคลุมถึงวิธีที่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

งานวิจัยนี้ท้าทายผลการประมาณการก่อนหน้านี้ และให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้นมาก

นักวิจัยได้ใช้วิธีการใหม่ในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ความผันผวนตามธรรมชาติของอุณหภูมิทั่วโลกเพื่อประเมินผลกระทบต่อ GDP ซึ่งสามารถจับภาพผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเพิ่มความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้

การศึกษายังได้คำนวณ “ต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน” (Social Cost of Carbon หรือ SCC) ไว้ว่าเท่ากับประมาณ 1,056 ดอลลาร์ต่อหนึ่งตันของคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสูงกว่าการประมาณการก่อนหน้านี้ที่ต้นทุนอยู่ระหว่าง 51 ถึง 190 ดอลลาร์ต่อเมตริกตันมาก

การประเมินต้นทุนทางสังคมของคาร์บอนที่สูงขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบทางการเงินจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นรุนแรงกว่าที่เคยคิด

ต้นทุนทางสังคมของคาร์บอนที่สูงขึ้นนี้ ทำให้ต้องกลับมาพิจารณานโยบายการลดการปล่อยคาร์บอน (Mitigation Policy) หลายๆ นโยบายที่เคยถูกมองว่าอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจภายใต้การประมาณการก่อนหน้านี้ กลับมีความเป็นไปได้ในกรณีต้นทุนทางสังคมสูงขนาดนี้

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 37.55 พันล้านเมตริกตัน ตามข้อมูลจาก Statista ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากตัวเลขนี้กับต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน จะพบว่าภาระทางการเงินจากระดับการปล่อยก๊าซในปัจจุบันนั้นสูงมาก 

ดังนั้น การที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่องนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับหายนะทางเศรษฐกิจ

งานวิจัยฉบับนี้ยังเตือนว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้จะนำไปสู่การลดลงอย่างรวดเร็วของผลผลิต ทุน และการบริโภคเกินกว่า 50% ภายในปลายศตวรรษนี้

ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงดูจะมีแนวโน้มจะเป็นฉากทัศน์เศรษฐกิจที่เลวร้ายในอนาคต งานวิจัยนี้เป็นเสียงเตือนครั้งสำคัญต่อความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการระดับโลก เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศไทยถือว่ามีความเปราะบางสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากไทยเราพึ่งพาภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวรวมกันประมาณ 25% ของ GDP นั้น เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีอ่อนไหวและมีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากโลกร้อนเป็นอย่างมาก

ภาคเกษตรกรรมมีประชากรส่วนใหญ่และมีส่วนสำคัญต่อ GDP มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบการตกของฝน ความถี่ที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง อาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหยุดชะงักอย่างรุนแรง นำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหารและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

การท่องเที่ยวก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อุณหภูมิที่สูงขึ้นและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากมาเที่ยว การฟอกขาวของปะการังเนื่องจากอุณหภูมิทะเลที่สูงขึ้น ยังเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและความน่าดึงดูดของแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงของประเทศ 

นอกจากนี้ ภูมิภาคชายฝั่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงอย่างมากจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและพายุที่รุนแรงขึ้น กรุงเทพมหานครซึ่งกำลังจมเนื่องจากการทรุดตัวของพื้นดิน อาจเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจที่รุนแรง

มิติผลกระทบทางสังคมก็มีความสำคัญเช่นกัน อากาศที่ร้อนจัดและการเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วบ่อยครั้งสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ประชากรกลุ่มเสี่ยง รวมถึงผู้สูงอายุ เด็ก และชุมชนที่มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ การตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบของสภาพอากาศอาจนำไปสู่ความยากจนและความไม่สงบทางสังคมได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องระยะยาวก็จริง แต่เราก็เริ่มได้รับผลกระทบระยะสั้นกันแล้ว การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดี

จำเป็นที่รัฐบาลทุกชุดต่อจากนี้จะต้องมีการนำปัจจัย “โลกร้อน” เข้าไปอยู่ในสมการการขับเคลื่อนของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น การวางนโยบายและลงทุนเพื่อการปรับตัวรองรับผลกระทบอย่างจริงจัง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบเศรษฐกิจให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการมีช่องว่างพื้นที่ทางการคลังและพื้นที่ว่างสำรองสำหรับการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มได้ในอนาคตหากมีวิกฤติจากโลกร้อน

ประเทศอาจจำเป็นต้องคิดถึงการตั้ง “กระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อนอย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้นี้.