‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ถูกใช้เพิ่มขึ้นดัน ‘ก๊าซคาร์บอน’ พุ่ง โลกร้อนกว่าเดิม

‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ถูกใช้เพิ่มขึ้นดัน ‘ก๊าซคาร์บอน’ พุ่ง โลกร้อนกว่าเดิม

ปี 2023 โลกบริโภคน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซในปริมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ทำให้โลกร้อนมีปริมาณพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด ทำลายความหวังของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่พยายามรักษาไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

KEY

POINTS

  • ปี 2023 มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น 2.1% ส่งผลให้มีปริมาณก๊าซคาร์บอนทะลุ 40,000 ล้านเมตริกตันเป็นครั้งแรก โดยการบริโภคน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.5%
  • ขณะเดียวกันมีการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 
  • ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง

ปี 2023 โลกบริโภคน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซในปริมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ทำให้โลกร้อนมีปริมาณพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด ทำลายความหวังของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่พยายามรักษาไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานล่าสุดของสถาบันพลังงาน (EI) องค์กรวิชาชีพวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน พบว่า ในปี 2023 มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น 2.1% ส่งผลให้มีปริมาณก๊าซคาร์บอนทะลุ 40,000 ล้านเมตริกตันเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้พยายามหยุดใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเลย แม้ว่าผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศจะรุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตมากขึ้นก็ตาม

คลื่นความร้อน” ที่รุนแรงกว่าที่สุดในรอบหลายทศวรรษพัดถล่มมาแล้วทั่วโลก เริ่มตั้งแต่เดือเม.ย.ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา และในตอนนี้กำลังแผ่ขยายพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐ และยุโรป ทำให้เกิดไฟป่า พายุ และน้ำท่วมร้ายแรงในหลายพื้นที่

ในขณะเดียวกัน รายงานพบว่าในปี 2023 มีการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ความต้องการพลังงานทั่วโลกก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน จนจำเป็นต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามาเติมเต็ม

จูเลียต ดาเวนพอร์ต ประธานสถาบันพลังงานกล่าวว่า “ปีที่ผ่านมาเป็นอีกปีที่โลกต้องการพลังงานมากที่สุด พลังงานเป็นศูนย์กลางของความก้าวหน้าของมนุษย์ และตอนนี้มันกลายเป็นศูนย์กลางในการเอาชีวิตรอดของเราด้วย”

ประเทศกำลังพัฒนาบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น

ในปี 2023 การบริโภคน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.5% โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก รายงานระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว โลกทำลายสถิติการบริโภคน้ำมันมากกว่า 100 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรก โดยสหรัฐยังคงเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุด มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 8% 

หากเทียบสัดส่วนการใช้พลังงานโดยรวม พบว่า พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก โดยในปี 2023 ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึง 81.5% ลดลงเพียง 0.5% จากปี 2022 ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของอินเดียเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2022 และเป็นครั้งแรกที่อินเดียใช้ถ่านหินมากกว่าจำนวนที่ทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือรวมกัน 

ขณะที่ประเทศจีนมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้นเพิ่มขึ้น 6% เป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ทำให้ธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาฟื้นตัว อย่างไรก็ตามสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรวมของประเทศกำลังลดลง เพราะจีนยังคงเพิ่มการลงทุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียนจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง

นิค เวย์ธ ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันพลังงานกล่าวเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานกำลังเกิดขึ้นช้าเกินไปในหลายภูมิภาค

“ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราสังเกตเห็นสัญญาณของความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงจุดสูงสุดแล้ว ตรงกันข้ามกับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น” เวย์ธ กล่าว

ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง

การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุด และเริ่มลดลง ในสหรัฐมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงเหลือ 80% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ขณะที่ในยุโรปมีการใช้ เชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 70% และถือเป็นครั้งแรกที่มีตัวเลขลดลงในระดับนี้นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นเพราะความต้องการที่ลดลง และการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน

นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 ทำให้ยุโรปเลิกพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ตามรายงานพบว่าในปี 2023 ความต้องการก๊าซของยุโรปโดยรวมลดลง 7% หลังจากลดลง 13% ในปี 2022 ก่อนหน้า

รายงานระบุว่าการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมไฟฟ้าพลังน้ำ) เพิ่มขึ้น 13% เป็นผลมาจากคนเริ่มหันมาใช้พลังงานลม และแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น แต่พลังงานหมุนเวียนก็ยังมีไม่มากพอที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 2% ในปี 2023

“ในปีที่ผ่านมาพลังงานหมุนเวียนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นปีที่มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ความต้องการพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงมีบทบาทสำคัญ แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย”
-ไซมอน วาร์ลีย์ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของบริษัท KPMG ผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว

ขณะที่ เดฟ โจนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลเชิงลึกระดับโลกของกลุ่มนักคิดด้านสภาพอากาศ Ember กล่าวว่า นี่เป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลตื่นตัว “โลกยังคงหิวกระหายพลังงานเช่นเคย พลังงานหมุนเวียนจำเป็นต้องถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นให้มากกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมจับตาดูการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองให้น้อยลง” เขากล่าวกับ CNN

เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากก่อนยุคอุตสาหกรรม ตามข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในสิ้นทศวรรษนี้


ที่มา: CNNFinancial TimesReutersThe Guardian

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์