ขาดเป้า ‘ลดก๊าซเรือนกระจก’ ฉุดความเชื่อมั่น ‘โอลิมปิกปารีส 2024’

ขาดเป้า ‘ลดก๊าซเรือนกระจก’ ฉุดความเชื่อมั่น ‘โอลิมปิกปารีส 2024’

โอลิมปิกปารีส 2024 ประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% จากงานครั้งก่อนๆ อย่างมุ่งมั่น มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง ทว่าผู้เชี่ยวชาญกลับไม่มั่นใจ เมื่อผู้จัดงานไม่กำหนดปริมาณคาร์บอนที่ต้องการลดอย่างชัดเจน

ผู้จัดงานโอลิมปิกปารีส 2024 ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการจัดงานอย่างยั่งยืนแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยจะลดผลกระทบต่อสภาพอากาศด้วยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลง 50% จากระดับของงานโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา และทุ่มเงินไปกับโครงการมากมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทว่าผู้เชี่ยวชาญยังคงไม่เชื่อในเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้จัดงานไม่กำหนดปริมาณการลดการปล่อยคาร์บอนให้ชัดเจนตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ ซึ่งเดิมระบุว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 1.58 ล้านตัน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อเดือนมิ.ย.ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 3 จากการจัดงานโอลิมปิกเป็นเวลา 3 สัปดาห์ คาดว่าจะมาจาก “การขนส่ง” ซึ่งรวมทั้งการเดินทางของนักกีฬา ผู้ชม เจ้าหน้าที่ และนักข่าวที่ต้องบินไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในงาน ส่วนใหญ่ผู้จัดงานเลือกใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วหรือสร้างขึ้นแบบชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้วัสดุก่อสร้างที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณมาก เช่น คอนกรีต

 

 

 

แม้โอลิมปิกปีนี้ดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างแข็งขัน แต่ “มาร์ติน มุลเลอร์" จากสถาบันภูมิศาสตร์และความยั่งยืน มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่า

“การไม่มีเป้าหมายเชิงปริมาณ ถือว่าไม่มีพันธกิจที่น่าเชื่อถือ”

ผู้จัดงานจึงให้คำมั่นสัญญาว่า โอลิมปิกปารีส 2024 จะลดการปล่อยมลพิษโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 50% ของโอลิมปิกในกรุงลอนดอน เมื่อปี 2555 และในกรุงริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปี 2559 ซึ่งงานแข่งขันทั้งสอง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 3.9 ล้านตัน ดังนั้น โอลิมปิกปารีส 2024 สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.95 ล้านตัน นั่นหมายความว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมมากกว่า 20%

ขาดเป้า ‘ลดก๊าซเรือนกระจก’ ฉุดความเชื่อมั่น ‘โอลิมปิกปารีส 2024’

ซื้อคาร์บอนเครดิตยังไม่พอ

ผู้จัดงานเผยว่า โอลิมปิกปีนี้จะสร้างผลประโยชน์เชิงบวกต่อสภาพภูมิอากาศ ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการทดแทนการลดปล่อยมลพิษด้วยการให้เงินทุนโครงการต่างๆ ที่ลด หลีกเลี่ยง หรือดักจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่เทียบเท่าการปล่อยมลพิษของงานแข่งขันในส่วนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาทิ โครงการปกป้องป่า การปลูกป่า หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย 

เบนจา แฟกส์” จากคาร์บอนมาร์เก็ตวอตช์ หน่วยงานเฝ้าระวังอุตสาหกรรมไม่แสวงผลกำไร บอกว่า การซื้อคาร์บอนเครดิตไม่ได้ทำให้สาธารณชนเชื่อว่างานโอลิมปิกไม่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจริงๆ

“คาร์บอนเครดิตควรใช้สนับสนุนโครงการที่คุ้มค่าแก่เงินลงทุน แต่ไม่ได้ช่วยชดเชยการปล่อยมลพิษ”

ก่อนหน้านี้คาร์บอนมาร์เก็ตวอตช์พบว่า กลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศของโอลิมปิกไม่มีความสมบูรณ์ และขาดความโปร่งใส เนื่องจากขาดวิธีการ และการติดตามอย่างละเอียด และครอบคลุม

ต้องลดพลาสติกเพิ่ม

นักเคลื่อนไหวหลายคนต่างมีความกังวลเกี่ยวกับระดับขยะพลาสติกในงานโอลิมปิกปารีส และยังกังวลเกี่ยวกับขยะจากสปอนเซอร์รายใหญ่อย่าง “โคคา-โคลา

ฟรานซ์ เนเจอร์ เอนไวรอนเมนต์ (France Nature Environnement) หรือเอฟเอ็นอี เครือข่ายกลุ่มอาสา โทษโคคา-โคลา ว่าเป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติก และได้กล่าวโจมตีแผนแจกจ่ายเครื่องดื่ม ตั้งแต่ขวดน้ำพลาสติกไปจนถึงแก้วพลาสติกใช้ซ้ำ เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นแค่อุบายของงาน

อักเซล กิเบิร์ต” จากเอฟเอ็นอี กล่าวกับเอเอฟพีว่า

“รีไซเคิลไม่ใช่ทางออก โคคา-โคลาต้องลดพลาสติก”

จากการจัดอันดับของเบรก ฟรี ฟรอม พลาสติก (Break Free From Plastic) องค์กรไม่แสวงผลกำไร (เอ็นจีโอ) ระบุว่า ในปี 2566 โคคา-โคลาเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่มีความรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติกแย่ที่สุด

แนวทางช่วยโอลิมปิกยั่งยืน

นักวิจัยหลายคนเช่นเดียวกับมุลเลอร์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหามากมายเพื่อช่วยให้การจัดงานโอลิมปิกมีความยั่งยืนมากขึ้น

มุลเลอร์ระบุในผลการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อปี 2564 ว่า แนวทางแรกคือ ลดขนาดของงาน 2.เวียนการแข่งขันโอลิมปิกในเมืองเดียวกันให้ได้มากที่สุด 3. บังคับใช้มาตรฐานความยั่งยืนอย่างอิสระ

สำหรับวิธีจำกัดการเดินทางทางอากาศ เดอะ ชิฟเตอร์ส (The Shifters) องค์กรเอ็นจีโอแนะว่า ให้เพิ่มสัดส่วนจำหน่ายตั๋วสำหรับผู้ชมท้องถิ่น และผู้ชมจากประเทศเพื่อนบ้านให้มากที่สุด เพราะการเดินทางของผู้ชมกลุ่มนี้ปล่อยมลพิษน้อยกว่า และให้ประเทศผู้จัดงานกระจายพื้นที่รับชมการแข่งขันสำหรับแฟนคลับ และกระจายพื้นที่รับชมไปยังทวีปต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมเดินทางน้อยลง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์