3 พื้นที่ทับซ้อน 'ทับลาน' อุทยานประกาศเขตทับ ส.ป.ก.

3 พื้นที่ทับซ้อน 'ทับลาน' อุทยานประกาศเขตทับ ส.ป.ก.

สกทช.สรุปปัญหา 3 พื้นที่ทับซ้อน "ทับลาน" พบอุทยานประกาศพื้นที่ทับเขต ส.ป.ก.ส่งผลต่อเนื่องความขัดแย้งการใช้ที่ดินทำกิน พร้อมประกาศอุทยานทับพื้นที่ทำกินเกษตรกร

     รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สกทช.) ระบุว่า ที่ผ่านมา สกทช.ได้หารือแนวทางการแก้ปัญหาพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมแผนที่ทหาร กรมอุทยานแห่งชาต สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน และ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก.) ได้สรุปปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.) พื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตปฏิรูปที่ดินกับอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมป่าไม้ ส.ป.ก.และหน่วยงานความมั่นคง ได้ร่วมกันสำรวจรังวัดและส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว 2 แปลง คือ พื้นที่ป่าวังน้ำเขียวแปลง 2 และแปลง 2 

   แต่การดำเนินการในแปลง 2 พบว่ามีการสำรวจรังวัดเข้ามาในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ป่าเขาสะโตน บางส่วน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้อนุมัติให้ ส.ป.ก. เข้ามาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมิได้กันพื้นที่แปลง 2 และแปลง 2 ออก ส่งผลทำให้มีพื้นที่ทับซ้อน และ ส.ป.ก. ได้ออกหนังสืออนุญาต (ส.ป.ก. 4-01) ไปแล้วบางส่วน
 

2.) พื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมกับอุทยานแห่งชาติทับลาน พื้นที่โดยรอบป่าวังน้ำเขียวแปลง 2 มีการเข้าอยู่อาศัยทำกินและจัดตั้งหมู่บ้านที่มีมาก่อนและหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2557 เช่น บ้านบุไทร บ้านบุไผ่ ในอำเภอวังน้ำเขียว 

    แต่ต่อมาได้กำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นการประกาศทับซ้อนกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยทำกินที่ราษฎรอยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

3.) พื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (โครงการ พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (โครงการ คจก.) กับอุทยานแห่งชาติ ทับลาน โครงการ พมพ. 

    และโครงการ คจก. เป็นการดำเนินงานโครงการรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมาย ที่จะให้ราษฎรได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดิน เป็นพื้นที่ที่ราษฎรเข้าอยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตอุทยาน แห่งชาติ มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร ออกหนังสืออนุญาต (ส.ป.ก. 4-01) ไปแล้วบางส่วน

    สำหรับประเด็นผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้มีการหารือในคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 โดยเห็นชอบให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนยุติธรรม 

    ทั้งนี้ จะต้องไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด และกำหนดแนวทางคุ้มครองการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย