นักกีฬา ‘โอลิมปิก 2024’ ไม่ปลื้ม ‘เตียงนอน’ ปวดหลังไม่ไหว แห่ย้ายนอนโรงแรม
นักกีฬา "โอลิมปิก 2024" ไม่ปลื้ม "เตียงนอน" ที่ทำมาจากกระดาษแข็งและวัสดุรีไซเคิล เพราะนอนแล้วปวดหลัง แห่ย้ายนอนโรงแรม
KEY
POINTS
- เตียงกระดาษแข็งสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก 2024 ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากจบงานจะนำไปบริจาคให้องค์กรในฝรั่งเศส
- โดยผู้จัดงานระบุว่า เตียงนอนนี้สามารถปรับระบุความนุ่มให้เข้ากับสรีระของนักกีฬาแต่ละคนได้ และมอบความสบายให้แก่ผู้นอนแน่นอน
- นักกีฬาออกมารีวิวเตียงนอนว่า นอนแล้วปวดหลัง เพราะฟูกแข็งเกินไป แถมห้องพักก็ร้อน ทำให้นอนไม่เพียงพอ บางคนตัดสินใจซื้อฟูกและหมอนใหม่ ขณะที่บางส่วนย้ายไปนอนโรงแรมแทน
“โอลิมปิก 2024” มหกรรมกีฬาของคนทั้งโลกกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น และปัญหาในการจัดโอลิมปิกก็ยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการรักษ์โลก ถึงจะมีจุดประสงค์ที่ดีแต่ก็ไม่สะดวกสบายแก่นักกีฬาและผู้ร่วมงาน ตั้งแต่เลื่อนการซ้อมแข่งว่ายน้ำในแม่น้ำแซนเพราะมลพิษเกิน อาหารไม่เพียงพอกับนักกีฬา ไม่มีแอร์ในบ้านพักนักกีฬา แต่อนุญาตให้ซื้อแอร์มาติด และล่าสุดนักกีฬาปวดหลังจากการนอนบนเตียงกระดาษแข็ง
เตียงกระดาษแข็งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2021 พร้อมกับข่าวลือแพร่สะพัดว่าเตียงเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้นักกีฬามีเพศสัมพันธ์กัน แต่ความเป็นจริงแล้ว เป้าหมายหลักของการดีไซน์เตียงกระดาษแข่งก็เพื่อช่วย “ลดโลกร้อน” ส่วนเรื่องป้องกันนักกีฬามีเซ็กส์กันเป็นผลพลอยได้เพราะ โครงสร้างเตียงไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น
เตียงนอนเหล่านี้ผลิตโดยบริษัทเครื่องนอนญี่ปุ่น “Airweave” ซึ่งผลิตที่นอนให้โอลิมปิกมายาวนาน โดยเตียงนอนกว่า 16,000 หลัง ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งโครงเตียงนอนที่ทำจากกระดาษแข็ง ส่วนผ้าปูเตียงและฟูกที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล
หลังจากปิดฉากกีฬาโอลิมปิกแล้ว โครงกระดาษแข็งจะถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนผ้าปูและฟูกจะบริจาคให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั่วฝรั่งเศส ตั้งแต่กองทัพไปจนถึงโรงเรียน โดยที่เตียงนอนเหล่านี้ยังสามารถขนส่งแบบแยกประกอบ ทำให้ใช้พื้นที่น้อย จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย
โฆษกของคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬา"โอลิมปิก 2024" กรุงปารีส บอกกับ Euronews Green ว่า “การใช้งานเตียงกระดาษนี้ ช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งก่อน”
นอกจากนี้ ทางทีมจัดงานยังเคลมว่า ที่นอนเหล่านี้สามารถปรับแต่งให้เข้ากับสรีระของแต่ละคนได้ จึงมอบความสะดวกสบายและความต้องการของแต่ละคน โดยมีที่นอนแบบโมดูลาร์ สามารถปรับระดับความแน่นได้หลายระดับ ทำจากสายเบ็ดที่รีไซเคิลบางส่วน จึงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้
ขณะที่ ห้องพักนักกีฬาตกแต่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีโต๊ะทำจากลูกขนไก่แบดมินตันที่ใช้งานแล้ว เก้าอี้จากฝาขวด และเบาะนั่งที่ทำจากผ้าใบร่มชูชีพอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของปารีสที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “โอลิมปิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
ดูเหมือนว่าเตียงเหล่านี้อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับที่ระบุเอาไว้ เนื่องจากนักกีฬาหลายชาติต่างออกมารีวิวเตียงนี้ว่า นอนแล้วปวดหลัง อย่างเช่น ทิลลี เคิร์นส์ นักโปโลน้ำชาวออสเตรเลียโพสต์วิดีโอลง TikTok โดยระบุว่า “หลังของฉันกำลังจะหลุด เตียงนั้น แข็งเหมือนหิน ถึงจะนอนบนด้านนุ่มของฟูกแล้วก็ตาม”
ส่วนทีน่า ราฮิมิ นักมวยชาวออสเตรเลี โพสต์วิดีโอที่เพื่อนร่วมทีมของเธอพูดว่า “เตียงห่วย” ขณะที่ซีเลีย ดูเปร นักพายเรือชาวสวิสเล่าถึงความหงุดหงิดของเธอว่า “เตียงกล่องกระดาษแข็งนั้นอึดอัดมาก แข็งเป็นหิน ผ้านวมโอลิมปิกก็คันและร้อนมาก”
แม้จะมีรีวิวออกมาไม่ดีนัก แต่บางคนก็บอกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ อะลีอาห์ ฟินเนแกน นักยิมนาสติกลูกครึ่งฟิลิปปินส์-อเมริกันกลับ ให้ความเห็นว่าเตียงนี้ไม่ได้แย่จนเกินไป “แน่นอนว่าไม่ใช่ที่นอนที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ก็ใช้ได้”
ส่วน อีวี ลีบฟาร์ธ นักพายเรือแคนูสหรัฐ กล่าวว่าเตียง “ส่วนใหญ่ทำจากกระดาษแข็ง แต่ไม่แข็งจนเกินไป” พร้อมทั้งเสริมว่าโครงเตียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถือว่ายอดเยี่ยมมาก
โฆษกของการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ระบุว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของเราคือการตอบสนองความต้องการด้านประสิทธิภาพของนักกีฬาจากทั่วโลก คุณภาพของที่นอน Airweave ได้รับการยอมรับและอนุมัติจากคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งชาติต่าง ๆ และพิสูจน์แล้วว่าสะดวกสบายสำหรับนักกีฬาในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว”
ถึงทีมผู้จัดงานจะมั่นใจในคุณภาพของเตียงนอน แต่นักกีฬาหลายคนก็ยังต้องหาเครื่องนอนต่างมาช่วยอำนวยความสะดวกในการพักผ่อนอยู่ดี เพราะทีมต่าง ๆ เดินทางจากทั่วโลกเพื่อชิงเหรียญทองโอลิมปิก ดังนั้นความสบายในการพักผ่อนจึงมีความสำคัญเหนือสิ่งแวดล้อม
หลังจากนอนหลับไม่เพียงพอ เคิร์นส์และทีมโปโลน้ำออสเตรเลียรีบสั่งซื้อท็อปเปอร์ที่นอนและหมอนเพื่อให้นอนได้สบายขึ้น ขณะที่นักกระโดดน้ำชาวแคนาดา เคลี แมคเคย์ โพสต์ว่าผู้จัดการทีมของเธอซื้อหมอนและท็อปเปอร์ที่นอนเพิ่มเติม เช่นเดียวกับซาราห์ โชสตรอม นักว่ายน้ำชาวสวีเดนและ เซซิล ลันดี โค้ชยิมนาสติกของสหรัฐ
ทีมสหรัฐได้สูบลมเย็นเข้าไปใต้ที่นอน เพื่อระบายความร้อน และทำให้นักกีฬานอนหลับได้สบายขึ้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า หมู่บ้านโอลิมปิกล้มเหลวในการรักษ์โลก นอกจากการออกแบบห้องพักโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ โดยหวังใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำบาดาล คล้ายกับระบบที่ช่วยให้พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้ผล
“มีน้ำอยู่ในผนังซึ่งควรจะเป็นระบบทำความเย็น แต่มันร้อนจริง ๆ เราอยู่แค่ชั้นสองหรือสามเองนะ ฉันนึกภาพคนอยู่ชั้นบน ๆ ไม่ออกเลย” ดูเปร นักพายเรือกล่าวในวิดีโอ
ท้ายที่สุดก็ต้องอนุญาตให้ชาติต่าง ๆ ซื้อเครื่องปรับอากาศแบบพกพา โดยจ่ายเงินเอง ซึ่งมีคำสั่งซื้อมากกว่า 2,500 รายการ หลังจากต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงถึง 35 องศาเซลเซียส ในตอนนี้นักกีฬาจากประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี กรีซ เดนมาร์ก และออสเตรเลียใช้เครื่องปรับอากาศแบบพกพาแทบทุกห้อง
ขณะที่ ทีมนักกีฬาบางส่วนตัดสินใจออกไปนอนที่อื่นแทน เพราะไม่อยากนอนบนเตียงแข็ง ๆ ในห้องพักที่ร้อน ไม่ว่าจะเป็นทีมบาสเกตบอลของสหรัฐ ทีมเทนนิสหญิงของสหรัฐ รวมถึงโนวัค ยอโควิช นักเทนนิสตัวท็อปของโลก