‘นกในเมือง’ พาหะแพร่เชื้อแบคทีเรียดื้อยา สู่สัตว์เลี้ยง-มนุษย์

‘นกในเมือง’ พาหะแพร่เชื้อแบคทีเรียดื้อยา สู่สัตว์เลี้ยง-มนุษย์

นักวิทยาศาสตร์เตือนนกในเมืองมีแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ จำเป็นต้องป้องกันให้นกอยู่ห่างจากสถานที่ฝังกลบและหยุดการปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ

KEY

POINTS

  • นกที่อาศัยอยู่ในเมืองใกล้ชิดมนุษย์ ทั้งอีกาและเป็ด มีแบคทีเรียหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งมียีนต้านทานยาปฏิชีวนะมากกว่านกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทมากถึง 3 เท่า
  • การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายในมนุษย์ ทำให้แบคทีเรียเริ่มมีภูมิต้านทาน และ “ดื้อยา” จนไม่สามารถฆ่าเชื้อได้อีกต่อไป โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์และเกษตรกรรม มักจะมีจุดจบในหลุมฝังกลบ หรือถูกทิ้งลงน้ำ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียดื้อยาได้ดีกว่าเดิม
  • การดื้อยาต้านจุลชีพ หรือ AMR ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการใช้ยามากเกินไป เช่น ยาปฏิชีวนะในมนุษย์และปศุสัตว์ในปี 2019 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 4.95 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับ AMR จากแบคทีเรีย โดยในจำนวนนี้มี 1.27 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากการดื้อยาโดยตรง

นกในเมือง” อาจทำให้ผู้คนรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่านกป่าที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดมนุษย์ มีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะแพร่เชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะมาสู่คน

การศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่านกที่อาศัยอยู่ในเมืองใกล้ชิดมนุษย์ ทั้งอีกาและเป็ด มีแบคทีเรียหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งมียีนต้านทานยาปฏิชีวนะมากกว่านกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท เช่น บนภูเขา มากถึง 3 เท่า ทำให้นักวิจัยกังวลว่า เมื่อนกอพยพเดินทางในระยะทางไกล จะแพร่กระจายแบคทีเรียที่เป็นอันตรายตามทาง ซึ่งอาจควบคุมได้ยาก

การดื้อยาต้านจุลชีพ หรือ AMR ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการใช้ยามากเกินไป เช่น ยาปฏิชีวนะในมนุษย์และปศุสัตว์ ปัญหานี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก จากข้อมูลในปี 2019 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 4.95 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับ AMR จากแบคทีเรีย โดยในจำนวนนี้มี 1.27 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากการดื้อยาโดยตรง

ศ.ซามูเอล เชพพาร์ด จากสถาบันวิจัยยาต้านจุลชีพ (IOI) แห่งออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะนกป่ามีสามารถถ่ายโอนการดื้อยาต้านจุลชีพไปยังปศุสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภค และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ”

“สิ่งนี้อาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการเกษตร สวัสดิภาพสัตว์ และความมั่นคงทางอาหาร” ศ.เชพพาร์ดกล่าวเสริม

การศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างแบคทีเรีย 700 ตัวอย่าง นำมาจากลำไส้ของนกป่า 30 สายพันธุ์ใน 8 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร นักวิจัยพบว่า “แคมไพโลแบคเตอร์เจจูไน” (Campylobacter jejuni) แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของนก ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องร่วงในมนุษย์ มีความต้านทานต่อยาต้านจุลชีพอยู่บ้างในนกทุกสายพันธุ์

ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า นกในเมืองจะกลายเป็นพาหะของแบคทีเรีย เนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ใกล้มนุษย์มาก อีกทั้งนกเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพไปสู่นกที่มนุษย์เลี้ยงได้ เช่น นกที่เลี้ยงในฟาร์มสัตว์ปีก

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายในมนุษย์ ทำให้แบคทีเรียเริ่มมีภูมิต้านทาน และ “ดื้อยา” จนไม่สามารถฆ่าเชื้อได้อีกต่อไป โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์และเกษตรกรรม มักจะมีจุดจบในหลุมฝังกลบ หรือถูกทิ้งลงน้ำ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียดื้อยาได้ดีกว่าเดิม

นกแต่ละชนิดสามารถเข้าถึงแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพได้หลายวิธี เช่น นกนางนวลและกามักจะอาศัยอยู่ตามหลุมฝังกลบขยะ ในขณะที่เป็ดและห่านอาจสัมผัสจากแม่น้ำและทะเลสาบที่ปนเปื้อนน้ำเสียของมนุษย์

แคทเธอรีน ลาเกอร์สตรอม จากภาควิชานิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษานี้ว่า “แม้ว่านกอพยพตามธรรมชาติและสัตว์ป่าอื่น ๆ อาจมีบทบาทในการแพร่กระจายแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพได้ แต่มนุษย์ตังหากที่เป็นตัวต้นเรื่อง ที่ทำให้นกเข้าถึงยาปฏิชีวนะได้”

ลาเกอร์สตรอมยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้นกทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวบ่งชี้ระดับและขอบเขตของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ และมนุษย์ควรต้องรับผิดชอบต่อปัญหาเหล่านี้ มากกว่าจะโยนความผิดไปให้สัตว์ป่าที่มีแบคทีเรียดื้อยา ทั้งที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างกว้างขวางของเราเอง

นักวิจัยกล่าวว่า แพทย์จำเป็นต้องจำกัดการจ่ายยาปฏิชีวนะลง ขณะเดียวกันต้องกันไม่ให้นกอยู่ใกล้กับสถานที่ฝังกลบและโรงบำบัด  พร้อมหยุดปล่อยของเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงแม่น้ำ

ดร. แอนดรูว์ ซิงเกอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องแน่ใจว่านกจะไม่ไปอยู่รวมตัวกันในหลุมฝังกลบ โรงบำบัดน้ำเสีย และกองมูลของสัตว์ ซึ่งมีทั้งเชื้อโรคและเศษซากยาปฏิชีวนะจำนวนมาก”

“ยิ่งกว่านั้น เรายังต้องกำจัดการปล่อยสิ่งปฏิกูลที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แม่น้ำของเรา ซึ่งจะทำให้สัตว์ป่าที่ใช้แม่น้ำ รวมถึงมนุษย์ สัมผัสกับเชื้อโรคที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และการดื้อยาต้านจุลชีพ

ในขณะที่ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของเมืองได้รบกวนสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ตลอดจนสัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นั่น ซึ่งอาจนำไปสู่การสัมผัสกันที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าข้อมูลที่มาจากการวิจัยนี้จะมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาในอนาคต เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบทั้งหมดจากการขยายตัวของมนุษย์ต่อการแพร่กระจายของโรคจากสัตว์สู่คนและ แบคทีเรียที่มีความต้านทานต่อยาต้านจุลชีพ

 

ที่มา: IndependentTelegraphThe Guardian