‘โอลิมปิก’ โอกาสสร้างเมืองสีเขียว ปารีสทำถึงหรือยัง?
โอลิมปิกปารีส 2024 ตั้งเป้าเป็นงานโอลิมปิกที่กรีนที่สุด แต่เมื่อดูจากข้อมูลที่ผ่านมา ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ปารีสเกมส์ทำได้ตามเป้าหรือไม่
โอลิมปิกปารีส 2024 ตั้งเป้าเป็นงานโอลิมปิกที่กรีนที่สุด และเป็นงานโอลิมปิกแรกที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส แต่เป้าหมายเหล่านี้ยังคงทำให้เกิดคำถามว่า โอลิมปิกปีนี้สามารถรักษาคำมั่นสัญญา “เกมส์สีเขียว” ได้จริงหรือ
ข้อมูลทางการระบุ โอลิมปิกปารีสตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโอลิมปิกริโอเดจาเนโร 2016 หรือโอลิมปิกลอนดอน 2012 ซึ่งคาดว่าทั้งสองงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 3.5 ล้านตัน แต่โอลิมปิกปารีสกลับเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวิธีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ต้องออกมาเปิดเผยกรอบมาตรฐานการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์โดยอ้างอิงจากมาตรฐานโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018
ภายหลังการใช้กรอบมาตรฐานคำนวณใหม่พบว่า โอลิมปิกปารีสจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดที่เพียง 1.58 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ยื่งใหญ่มาก เมื่อเทียบกับโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่จัดขึ้นในช่วงโควิด ไร้ผู้ชม แต่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบเทียบเท่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2 ล้านตัน
ขนส่งปล่อยคาร์บอนสูงสุด
โอลิมปิกปีนี้คาดการณ์การปล่อยคาร์บอนฟรุตพรินต์ไว้ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1.ภาคการขนส่ง ซึ่งคาดว่าผู้เข้าชมการแข่งขันปล่อยคาร์บอนราว 25% และนักกีฬาราว 9% 2.ภาคการก่อสร้าง คาดว่า อาคารสร้างถาวรปล่อยคาร์บอน 25% โครงสร้างชั่วคราวอาจปล่อยราว 8% เช่นเดียวกับระบบพลังงานในอาคาร 3.ภาคการปฏิบัติงาน เช่น การจัดเลี้ยงอาหาร การรักษาความปลอดภัย ฯลฯ คาดว่าปล่อยคาร์บอนราว 25%
ตามความจริงแล้ว เราไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าโอลิมปิก 2024 ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เท่าใด จนกว่าแข่งขันเริ่มต้นขึ้น และตอนนี้การแข่งขันมีขึ้น และสิ้นสุดแล้ว คงต้องรอดูข้อมูลตัวเลขจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลอย่างเป็นทางการต่อไป
ปารีสเกมส์สีเขียว?
ผู้จัดโอลิมปิกได้หาแนวทางมากมายเพื่อลดการปล่อยมลพิษในงาน แต่แนวทางส่วนใหญ่ก็มักจะมีข้อบกพร่องให้เห็น
แม้มาตรการการจำกัดการก่อสร้าง ที่โครงสร้างพื้นฐาน 95% ของสถานที่จัดงาน 26 แห่ง เป็นโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างขึ้นชั่วคราว และโครงสร้างใหม่ออกแบบให้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าอาคารทั่วไป แต่ยังมีข้อกังวลคือ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของอาคารอยู่ที่ 1 ตันต่อตารางเมตร ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนของอาคารในยุโรปในปี 2565 ที่ 210 กิโลกรัมต่อตารางเมตร "ตลอดอายุของอาคาร" ทั้งยังมีความไม่ชัดเจนของข้อกำหนดจากคณะกรรมการโอลิมปิกว่า เป้าหมายการลดปริมาณปล่อยคาร์บอนจากอาคาร คำนวณเฉพาะระหว่างการก่อสร้าง หรือตลอดอายุการใช้งาน
ขณะที่โอลิมปิก 2024 มุ่งมั่นใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ทั้งการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่พลังงานทางเลือกเหล่านี้ยังคงถูกวิจารณ์จากบรรดานักวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ โอลิมปิกได้ปรับให้มื้ออาหารที่เสิร์ฟให้กับบรรดาผู้ชม เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครให้ 2 ใน 3 เป็นอาหารมังสวิรัติ ซึ่งสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 50% เมื่อเทียบกับอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ และอาหาร 25% ปรุงจากวัตถุดิบในท้องถิ่น แต่มาตรการอาหารเหล่านี้ไม่ได้รับประกันแน่นอนว่าปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ลดลง
‘โอลิมปิก’ โอกาสสร้างเมืองกรีน
หากมองในแง่รูปธรรม การปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ในงานโอลิมปิกปารีสคาดว่าอาจเทียบเท่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ 1.6 ล้านเมตริกตัน ต่อผู้เข้าชมราว 13-16 ล้านคน หรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 100 -125 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบการปล่อยคาร์บอนฟรุตพรินต์ของชาวยุโรปเฉลี่ยที่ระดับ 7.8 ตันต่อปี
เพื่อให้เห็นภาพ เฟิร์สโพสต์ยกตัวอย่างว่า การปล่อยคาร์บอน 100 กิโลกรัมเทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษจากการเดินทางด้วยรถยนต์ 500 กิโลเมตร หรือด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน 10,000 กิโลเมตร หรือการบริโภคเบอร์เกอร์เนื้อ 31 ชิ้น หรือการดื่มไวน์ 83 ขวด แต่การบรรลุข้อตกลงปารีสที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม เราต้องจำกัดการปล่อยคาร์บอนของทุกคนให้น้อยกว่า 2 ตันต่อปีต่อคน
อย่างไรก็ดี นักวิจัยหลายคนได้แนะแนวทางช่วยโอลิมปิกลดการปล่อยคาร์บอนไว้มากมาย ตั้งแต่การลดขนาดของงาน แบ่งจัดงานในหลายเมือง ไปจนถึงหลีกเลี่ยงสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่
แต่แนวทางหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้แน่นอนก็คือ การคิดค้นการจัดงานโอลิมปิกหรืองานขนาดใหญ่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายสภาพภูมิอากาศสากล โดยงานต้องช่วยให้เมืองเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน เมืองผู้จัดควรใช้โอกาสนี้ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ จัดหาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน พัฒนาขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น หรือสร้างพื้นที่พักผ่อนนอกเมืองเพื่อดึงคนในเมืองออกไป