ประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน เซ็น MOU พัฒนา-ผลักดันอนาคตยั่งยืน

ประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน เซ็น MOU พัฒนา-ผลักดันอนาคตยั่งยืน

การประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน ครั้งที่ 2 จุดประกายอนาคตอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อต่ออายุการใช้งานแบตเตอรี่ สร้างโรดแมปการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน ครั้งที่ 2 จุดประกายอนาคตอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อต่ออายุการใช้งานแบตเตอรี่ สร้างโรดแมปการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน ครั้งที่ 2 (ABTC) จัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา ราซา เซนโตซ่า ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 ที่สิงคโปร์ โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ กลุ่มความร่วมมือด้านแบตเตอรี่แห่งสิงคโปร์ (SBC) สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA), สถาบันวิจัยแบตเตอรี่แห่งชาติ (NBRI) ประเทศอินโดนีเซีย, ศูนย์เทคโนโลยีการขนส่งที่ยั่งยืนแห่งชาติ (NCSTT) ประเทศอินโดนีเซีย, องค์กรนาโนมาเลเซีย และสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าแห่งฟิลิปปินส์ (EVAP) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 320 คน จาก 16 ประเทศ ใน 3 ทวีป ประกอบด้วย เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ 

การประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายแลม วี แชนน์  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี กรมขนส่งทางบกสิงคโปร์ มาเปิดงาน โดยแลมได้กล่าวว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เปิดตัวการประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียนครั้งที่ 2 การพัฒนาแบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน และภาควิชาการมาประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างการเติบโตในภูมิภาคให้สอดคล้องกัน ผมหวังว่างานประชุมในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป”

ประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน เซ็น MOU พัฒนา-ผลักดันอนาคตยั่งยืน

นายแลม วี แชนน์  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี กรมขนส่งทางบกสิงคโปร์

ขณะที่ ดร. พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานร่วมของ ABTC และนายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย กล่าวว่า “การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคในระยะยาว ด้วยการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เราไม่เพียงขับเคลื่อนนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังรับประกันความก้าวหน้าของเราว่าจะมีส่วนช่วยให้โลกมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

ในการประชุมครั้งนี้ เราได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในภูมิภาค เพื่อให้เราสามารถร่วมมือและจัดหาแนวทางเพื่อสร้างระบบนิเวศพลังงานที่แข็งแกร่งต่อไป” 

การประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียนครั้งที่ 2 ยังได้ประกาศขยายขอบข่ายเพื่อเสริมสร้างอีโคซิสเต็มส์ของผู้ประกอบการแบตเตอรี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ พร้อมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบตเตอรี่ในภูมิภาค

สำหรับ MOU ฉบับแรก เป็นการร่วมมือกันของบริษัท Gigafactory Malaysia (GMSB) และบริษัท NEU Battery Materials (NEU) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ร่วมมือกันในการพัฒนาการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียม

ความร่วมมือจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตามมาตรฐานของ Gigafactory รวมถึงการผลิตเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งผสมผสานวัสดุนาโนสำหรับการใช้งานแบบเคลื่อนที่และแบบอยู่กับที่ 

ขณะที่ NEU ทำหน้าที่ในการจัดหาวัสดุแบตเตอรี่รีไซเคิล เช่น ลิเธียมคาร์บอเนต และโลหะอื่น ๆ เพื่อส่งไปยังศูนย์ Hydrogen-Electric-Vehicle-Battery (HEBATT) ของ GMSB สำหรับทดสอบประสิทธิภาพ อีกทั้ง NEU และ GMSB จะทำหน้าที่ในการจัดหาและการพัฒนาวัสดุโดยพิจารณาจากวัสดุแบตเตอรี่ใช้แล้วที่ใช้ในระบบนิเวศแบบครบวงจร

ประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน เซ็น MOU พัฒนา-ผลักดันอนาคตยั่งยืน

ทั้งนี้ ขบวนการทดสอบวัสดุรีไซเคิล จะช่วยสร้างมั่นใจว่าจะมีวัสดุใช้งาน และอยู่ในขบวนการของการสร้างความยั่งยืนภายในระบบนิเวศแบตเตอรี่ของมาเลเซีย ซึ่งจะขยายไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นพื้นฐานปูทางไปสู่การสำรวจโครงการพัฒนาร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลระหว่างทั้งสองบริษัท

สำหรับ MOU ฉบับที่ 2 เป็นของ GMSB และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกันในการผลิตเซลล์ที่พัฒนาโดย GMSB ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและทรัพยากรร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่พัฒนาโดย GMSB และความร่วมมือดังกล่าวยังรวมถึงการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทดสอบและการรับรองมาตรฐานแบตเตอรี่ ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านการผลิตที่ศูนย์ Hydrogen Electric Vehicle Battery (HEBATT) ของ GMSB ในมาเลเซีย

ขณะที่ MOU ฉบับที่ 3 เป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันแห่งการวิจัยวัสดุและวิศวกรรมแห่งสิงคโปร์ (IMRE) และบริษัท INV Corporation วิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาตัวกั้นสำหรับแบตเตอรี่ไฮบริดรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายด้านความปลอดภัยที่แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ในปัจจุบันต้องเผชิญ

ความร่วมมือนี้มุ่งหวังที่จะพัฒนาจุดแข็งและสิทธิบัตรเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตตที่พัฒนาขึ้นในสิงคโปร์ นอกเหนือจากนี้ INV มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ และเป็นผู้ผลิตฟิล์มแยกแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีโรงงานผลิตอยู่ในสวีเดนและมาเลเซีย

ประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน เซ็น MOU พัฒนา-ผลักดันอนาคตยั่งยืน

จากซ้ายไปขวา: นงลักษณ์ มีทอง (ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น), นายแลร์รี พูน (ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ INV CORPORATION PTE. LTD.), ดร.เรซัล ไครี บิน อาหมัด ( ซีอีโอ องค์กรนาโนมาเลเซีย เบอร์แฮด), นายไบรอัน โอ (ซีอีโอ  NEU Battery Materials Pte Ltd), นายเฟรดดี้ คิม (กรรมการผู้จัดการ SAMSUNG SDI เอเชียตะวันออกเฉียงใต้), ดร.สิงห์ ยาง เจียม ผู้อำนวยการด้านเทคนิค กลุ่มความร่วมมือด้านแบตเตอรี่แห่งสิงคโปร์

 

นอกจากนี้ Samsung SDI ผู้ผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงที่มีฐานการผลิตอยู่ในเกาหลีใต้ ได้เปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ปัจจุบัน Samsung SDI มีโรงงานผลิต 2 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซียและเวียดนาม เพื่อยกระดับการบริการลูกค้า

บริษัทได้จัดตั้งสำนักงานขาย 2 แห่งในเวียดนาม (ธันวาคม 2565) และสิงคโปร์ (เมษายน 2567) อีกทั้งยังมีแผนที่จะเปิดสำนักงานขายแห่งใหม่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ด้วย และจะเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์  Samsung SDI R&D Singapore (SDIRS) ในวันที่ 1 กันยายน 2567 

งาน ABTC เป็นงานที่จัดขึ้นโดยหมุนเวียนผู้จัดงานไปในแต่ละประเทศ  และสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งที่ 3 ในปีหน้า 2568 ที่ภูเก็ต ประเทศไทย

ประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน เซ็น MOU พัฒนา-ผลักดันอนาคตยั่งยืน