อุตฯซีเมนต์ไทย-มหาดไทย ดัน 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' สู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ

อุตฯซีเมนต์ไทย-มหาดไทย  ดัน 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' สู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ

ประไทยมีความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบนี้ เพื่อช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้คงอยู่มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อน

ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่าได้ร่วมประกาศความร่วมมือ “MISSION 2023” ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอน สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด

ด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของกระทรวงมหาดไทยในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล และได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ได้ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (อบจ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (อบต.) เพื่อส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนช่วยลดโลกร้อนตามนโยบายภาครัฐ ด้วยการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทุกงานก่อสร้าง ตามมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง

โดยมี สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) เข้าแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั้งหมด เพื่อร่วมกันลดโลกร้อน สนับสนุนยกระดับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยมุ่งสู่ Thailand Net Zero

โดยกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบข้อมูลจาก “สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA)” ภายใต้การนำของ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมฯ ถึงการขับเคลื่อน “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” ซึ่งมีที่มาจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608

ด้วยศักยภาพของจังหวัดสระบุรีที่มีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน เรียกได้ว่า “ทำงานเป็น Parnership ร่วมกัน” จึงเป็นที่มาของการที่ TCMA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดเลือกให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย

โดยสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ จะเป็นต้นแบบที่ดีของประเทศชาติ ด้วยความพร้อมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ตลอดจนการประกอบอุตสาหกรรมที่ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

รวมถึงเรื่องโรงเรียนไร้ขยะ โดยถอดบทเรียนความสำเร็จควบคู่การประมวลแนวทางการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติของภาคราชการ ตลอดจนการประกอบการของผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ รวมถึงภาคเกษตรกรรม และจัดทำเป็นคู่มือ (Cookbook) ให้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เพื่อพิจารณาดำเนินการตามสภาพภูมิสังคมของพื้นที่ และสร้างความรับรู้เข้าใจ รณรงค์ให้ทุกภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน/หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จภาพรวมทั้งประเทศ  และสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ สามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาด โดยสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า 100,000 เมกะวัตต์ ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการใช้พลังงานเพียง 30,000 เมกะวัตต์ ด้วยมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้ในการเพิ่มพูนการผลิตพลังงานได้เป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดความยั่งยืนของชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมตลอดไป