ชื่อนั้นสำคัญไฉน? ความเขียวที่ต้อง 'ตรงปก'
สวัสดีครับยุโรปนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำโลกด้านความยั่งยืน ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรปได้ริเริ่มจัดระเบียบการตั้งชื่อของกองทุนให้สะท้อนว่า "รักษ์โลก” จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นความเข้มงวดที่ล้ำไปอีกขั้น ผมจะขอขยายความในเรื่องนี้สักนิดครับ
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนในยุโรป หรือ European Securities and Markets Authority (ESMA) ได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ซึ่งกำหนดให้กองทุนที่มีชื่อเป็นคำเฉพาะด้านเกี่ยวกับ ESG อาทิ Green, Net-Zero, Climate, Transformation และ Equality จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนเพื่อการพัฒนาในด้านที่เกี่ยวข้องกับชื่อเหล่านี้ อย่างน้อย 80 % ของมูลค่ากองทุน อีกทั้งกฎเกณฑ์ยังระบุรายการธุรกิจที่หมดสิทธิ์ใช้คำนี้เป็นชื่อกองทุน อาทิ
- การปลูกและการผลิตยาสูบ
- กิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ
- บริษัทที่มีรายได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเกินสัดส่วนที่กำหนดไว้
- ผู้ที่ฝ่าฝืนหลักการในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact Principles) และแนวทางสําหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Guidelines for Multinational Enterprises) ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในมิติด้านแรงงาน
พูดง่ายๆ กฎเกณฑ์ใหม่นี้ตั้งคำถามว่า กองทุนที่บอกว่า “เขียว” หรือ “ยั่งยืน” ของท่านนั้นตรงปกหรือไม่ แม้คำดังกล่าวเป็นคำที่เราพบเห็นได้โดยทั่วไป แต่ต่อไปนี้ ใช่ว่าจะตั้งชื่อกองทุนแบบไหนก็ได้นะครับ และนอกจากจะพิจารณาประเภทกิจการแล้ว ยังต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของธุรกิจว่าเกี่ยวโยงกับความยั่งยืนในมิติสังคม สิ่งแวดล้อม หรือธรรมาภิบาลอย่างไรด้วย
อย่างไรก็ตาม กองทุนที่ลงทุนในบริษัทถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซ ยังสามารถตั้งชื่อด้วยคำว่า Impact หรือ Transition ได้ แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม หรือข้อมูลการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของบริษัทในลักษณะที่วัดประเมินได้จริง ซึ่งเป็นความยืดหยุ่นแบบมีเงื่อนไข
ทั้งนี้ เหตุผลการออกกฎเกณฑ์การตั้งชื่อกองทุนเป็นการจัดตั้งมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อป้องกันความสับสนจากพอร์ตสีเขียวแบบก้ำกึ่ง ในเบื้องต้น คาดว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้จะบังคับใช้กับกองทุนใหม่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป และบังคับใช้กับกองทุนเดิมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป โดยจากที่บริษัทจัดอันดับกองทุน Morningstar ได้สำรวจข้อมูลกองทุนในสหภาพยุโรป 2,500 กองทุน พบว่ามีกองทุนถึงสองในสามหรือกว่า 1,600 กองทุนจะเข้าข่ายกลุ่มที่ต้องเลือกระหว่างเปลี่ยนชื่อหรือปรับพอร์ตหุ้นให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว
หันมาดูกองทุนรักษ์โลกฝั่งไทย นอกจากจะมีกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งกำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีแล้ว เรายังมี Sustainable & Responsible Investing (SRI) Fund ที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามหลักสากล อาทิ SDGs และ UN Global Compact ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับแนวปฏิบัติของ ESMA ข้างต้น
ในแง่ของความโปร่งใส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้กำหนดว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดการกองทุนรวมสู่ความยั่งยืนให้ครบถ้วนในหนังสือชี้ชวนของ SRI Fund เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจ
ในแง่ของจำนวนกองทุน เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าเรามีเม็ดเงินไหลสู่โครงการสีเขียวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีกองทุน SRI Fund ที่ได้รับอนุมัติจาก กลต. เพียง 4 กองทุนในเดือนธันวาคม 2565 ปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคม 2567 ประเทศไทยมี SRI Fund ทั้งหมด 52 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ ( Assets under Management: AUM) อยู่ที่ 26,000 ล้านบาท
ในระดับภาพรวม แม้ประเทศไทยจะยังไม่เข้มงวดถึงขั้นมีเงื่อนไขการตั้งชื่อกองทุนว่าต้องเกี่ยวโยงกับการลงทุนใน ESG ในสัดส่วนขั้นต่ำเท่าไหร่ แต่เราก็มีแนวปฏิบัติที่ช่วยจัดระเบียบการเปิดเผยข้อมูลกองทุนตามหลักการ ESG ระดับโลก และผมเชื่อว่าแนวทางของตลาดทุนบ้านเราน่าจะค่อยๆ เพิ่มความเข้มงวดเพื่อความตรงปกมากขึ้นเช่นเดียวกับในต่างประเทศครับ