มนุษย์สร้าง ‘มลพิษจากพลาสติก’ ปีละ 57 ล้านตัน มาจาก ‘ประเทศโลกที่ 3’ มากที่สุด
มนุษย์สร้าง “มลพิษจากพลาสติก” ปีละ 57 ล้านตัน และแพร่กระจายไปทั่วโลก จากมหาสมุทรที่ลึกที่สุดไปยังยอดเขาที่สูงที่สุด แม้แต่ร่างกายของผู้คนเองก็ยังมีพลาสติกปนเปื้อนอยู่ โดยข้อมูลจากศึกษาวิจัยใหม่ที่ระบุว่ามากกว่าสองในสามมาจาก “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”
KEY
POINTS
- ขยะพลาสติก 52.1 ล้านตัน หรือประมาณ 20% ของขยะพลาสติกทั้งหมดทั่วโลกกลายเป็นมลพิษทุกปี โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศยากจนซึ่งไม่มีการจัดการขยะที่เหมาะสม
- เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ครองตำแหน่งเมืองที่สร้างมลพิษจากพลาสติกมากที่สุด หากจะเทียบเป็นรายประเทศแล้ว พบว่า “อินเดีย” เป็นประเทศที่สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากที่สุด
- การเผาพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดมลภาวะทางพลาสติกสูงถึง 57% อีก 43% มาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่
มนุษย์สร้าง “มลพิษจากพลาสติก” ปีละ 57 ล้านตัน และแพร่กระจายไปทั่วโลก จากมหาสมุทรที่ลึกที่สุดไปยังยอดเขาที่สูงที่สุด แม้แต่ร่างกายของผู้คนเองก็ยังมีพลาสติกปนเปื้อนอยู่ โดยข้อมูลจากศึกษาวิจัยใหม่ที่ระบุว่ามากกว่าสองในสามมาจาก “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”
ผู้คนทั่วโลกราว 1,500 ล้านคน อยู่ในประเทศที่ไม่มีบริการจัดเก็บขยะ และวิธีการกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่ถูกวิธีของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งตามข้างทาง ทิ้งลงในแหล่งน้ำ หรือเผาขยะที่ไม่ถูกวิธี ได้ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร ตรวจสอบขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งตามข้างทาง หรือพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ได้กำจัดอย่างถูกวิธี เช่น การฝังกลบหรือเผา ในแต่ละท้องถิ่นจากกว่า 50,000 เมืองทั่วโลก พบว่า รัฐบาลส่วนใหญ่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้สะฮารา ล้มเหลวในการเก็บรวบรวม และกำจัดขยะ
คอสตาส เวลิส ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากลีดส์ ผู้เขียนรายงาน ประเมินว่า ขยะพลาสติก 52.1 ล้านตัน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของขยะพลาสติกทั้งหมดทั่วโลกกลายเป็นมลพิษทุกปี โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศยากจน ซึ่งไม่มีการจัดการขยะที่เหมาะสม ขยะพลาสติกส่วนใหญ่กลับถูกเผาในบ้าน บนถนน หรือในหลุมฝังกลบขนาดเล็ก โดยไม่มีการควบคุมสิ่งแวดล้อมใด ๆ
เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ครองตำแหน่งเมืองที่สร้างมลพิษจากพลาสติกมากที่สุด ส่วนอันดับท็อป 5 ที่เหลือ ประกอบไปด้วย นิวเดลี ประเทศอินเดีย, ลูอันดา ประเทศแองโกลา, การาจี ประเทศปากีสถาน และอัลกาฮิราห์ ประเทศอียิปต์
การเผาขยะพลาสติกในอินเดีย
เดรดิตภาพ: SHAMMI MEHRA / AFP
หากจะเทียบเป็นรายประเทศแล้ว พบว่า “อินเดีย” เป็นประเทศที่สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากที่สุด โดยในแต่ละปีผลิตขยะ 10.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณขยะจากประเทศอันดับ 2 และ 3 อย่าง ไนจีเรีย และอินโดนีเซียถึง 2 เท่า
ขณะที่จีน แม้จะก่อมลภาวะอยู่ในอันดับ 4 แต่ก็จัดการขยะ และลดการเกิดขยะลงได้อย่างดี ส่วนท็อป 8 ของประเทศที่ก่อมลภาวะจากพลาสติกอื่นๆ ได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ รัสเซีย และบราซิล ซึ่งจากข้อมูลของการศึกษาพบว่า 8 ประเทศนี้ได้สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
ส่วนมลพิษจากขยะพลาสติกในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ และอังกฤษ อยู่ในลำดับที่ 90 และ 135 ตามลำดับ
โดยทั่วไป ประเทศที่มีรายได้น้อยจะผลิตขยะพลาสติกต่อคนน้อยกว่ามาก แต่ขยะเหล่านั้นกลับก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในประเทศที่มีรายได้สูง ขยะส่วนใหญ่จะถูกรวบรวม และแปรรูป โดยการทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นสาเหตุหลักของมลพิษจากพลาสติก
การศึกษายังพบว่า การเผาพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดมลภาวะทางพลาสติกสูงถึง 57% อีก 43% มาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ซึ่งทั้งสองกรณีก่อให้เกิด ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก ที่สามารถแพร่กระจายไปทั่ว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งโลก นับเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์
ดังที่เห็นจากงานวิจัยต่างๆ ที่พบ ไมโครพลาสติกมีอยู่ในร่างกายมนุษย์ เช่น หัวใจ สมอง และอัณฑะ แต่แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร
แพขยะในทะเลของอินโดนีเซีย
เครดิตภาพ: CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP
“ไมโครพลาสติกเหล่านี้พบในพื้นที่ห่างไกลที่สุด เช่น ยอดเขาเอเวอเรสต์ ในร่องลึกมาเรียนาในมหาสมุทร ในสิ่งที่เราหายใจ สิ่งที่เรากิน และสิ่งที่เราดื่ม ซึ่งมันเป็นปัญหาของทุกคน และเป็นปัญหาที่ตามหลอกหลอนคนรุ่นต่อ ๆ ไป” เวลิส กล่าว
อย่างไรก็ตาม เวลิส กล่าว เราไม่สามารถกล่าวโทษประเทศที่กำลังพัฒนาว่าเป็นต้นตอของปัญหาขยะพลาสติก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ ขาดทรัพยากร และไม่สามารถให้บริการที่จำเป็นแก่ประชาชนได้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ประเทศโลกที่ 3 มีขยะพลาสติกจำนวนมากเป็นผลมาจากประเทศโลกที่ 1 ส่งขยะมาขายที่ประเทศเหล่านี้ การค้าขยะโดยรวมนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะมีพลาสติกตามมาด้วย การส่งออกขยะของสหภาพยุโรปที่เพิ่มจาก 110,000 ตัน ในปี 2004 เป็น 1.4 ล้านตัน ในปี 2021
ขยะในคลองของอินเดีย
เครดิตภาพ: R. Satish BABU / AFP
ขณะที่ เทเรซา คาร์ลสัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคของ International Pollutants Elimination Network กลุ่มพันธมิตรรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และขยะ กล่าวว่า ปริมาณมลพิษที่ระบุโดยการศึกษานี้เป็นสิ่งที่น่าตกใจ และปริมาณพลาสติกที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์เกินการควบคุมแล้ว
“การศึกษาวิจัยนี้เน้นย้ำว่าขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการรวบรวม และถูกจัดการอย่างถูกวิธี เป็นสาเหตุหลักของมลภาวะพลาสติก ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญในการยุติมลภาวะพลาสติก” คริส จาห์น เลขาธิการสภาสมาคมเคมีระหว่างประเทศ กล่าวในแถลงการณ์ ในการเจรจาสนธิสัญญา อุตสาหกรรมคัดค้านการจำกัดการผลิตพลาสติก
สหประชาชาติคาดการณ์ว่าการผลิตพลาสติกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 440 ล้านตัน ต่อปีเป็นมากกว่า 1,200 ล้านตัน โดยกล่าวว่า “โลกของเรากำลังจมอยู่ในกองพลาสติก”
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2024 จะมีการพิจารณานำสนธิสัญญาว่าด้วยขยะพลาสติกฉบับแรกของโลกมาใช้ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเรียกร้องมีมาตรการที่กำหนดให้ประเทศต่างๆ เพิ่มสัดส่วนปริมาณขยะที่ถูกกำจัดอย่างให้ถูกวิธีโดยโรงงานที่เหมาะสม อีกทั้งประเทศที่มีรายได้สูงควรให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนในการจัดการขยะมากขึ้น
ที่มา: AP News, Nature, New Scientist
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
หญิงชาวอินเดียเก็บขวดพลาสติก
เครดิตภาพ: Idrees MOHAMMED / AFP