เทียบนโยบายความยั่งยืน "ทรัมป์" VS "แฮร์ริส" ผลการเลือกตั้งอาจกระทบทั่วโลก

เทียบนโยบายความยั่งยืน "ทรัมป์" VS "แฮร์ริส" ผลการเลือกตั้งอาจกระทบทั่วโลก

ความยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานและนโยบายของธุรกิจ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอาจทำให้ประเทศต่าง ๆ กังวลเกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงาน อาหาร และสินค้าสำคัญ เพื่อความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทาน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2024 ซึ่งผลของการเลือกตั้งสหรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทั่วโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้า และความตึงเครียดทางเศรฐกิจระดับโลก

“โดนัลด์ ทรัมป์” และพรรครีพับลิกัน กำหนดแคมเปญที่มีการคัดค้านนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) โดยอ้างถึงผลกระทบเชิงลบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจกับจีน

และหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 แพลตฟอร์มรีพับลิกันมีแนวทางที่จะ "เน้นการผลิตใช้เองในประเทศ" เพื่อลดการนำเข้าจากจีน ภายใต้แนวคิด “นำห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญกลับบ้าน” (Bring Home Critical Supply Chains) ให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าในอเมริกา จ้างคนอเมริกัน และจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านการผลิต และสร้างเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ต่างจากคู่แข่งของทรัมป์ “กมลา แฮร์ริส” ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยในสุนทรพจน์รับการเสนอชื่อ แฮร์ริสได้ตีกรอบเกี่ยวกับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ว่า “เป็นเรื่องของความรักชาติ” (Patriotic) โดยพูดถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองสหรัฐฯว่า “เพื่อเสรีภาพในการสูดอากาศบริสุทธิ์ ดื่มน้ำสะอาด และใช้ชีวิตโดยปราศจากมลพิษ จากผลของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นต้นเหตุวิกฤติสภาพอากาศ”

แฮร์ริส ส่งเสริมการลงทุนสีเขียว

“กมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครตเป็นตัวแทนของการดำเนินการต่อเนื่องในนโยบายด้านสภาพอากาศของรัฐบาล แม้ว่าเธอยังไม่ได้เผยแพร่แผนงานอย่างเป็นทางการ แต่แพลตฟอร์มของเธอมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน เช่น การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

เธอมีเส้นทางที่จะดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และสร้างงานสีเขียวหลายล้านตำแหน่ง ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคาดหวังถึงความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการลงทุนในพลังงานทดแทน นอกจากนี้ แฮร์ริสยังมุ่งมั่นให้ชุมชนที่ถูกมองข้าม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับประโยชน์จากนโยบายสภาพอากาศของรัฐบาลกลาง

หากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะหมายถึงโอกาสเพิ่มขึ้นสำหรับผู้นำด้านความยั่งยืนในตลาดพลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียวจะเติบโตอย่างรุ่งเรือง

รัฐบาลของแฮร์ริสจะผลักดันการมีระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนั้น ภาคเอกชนอาจจะเห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มากขึ้นเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำ

แพลตฟอร์มของพรรคเดโมแครตสัญญาว่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อนโยบายปัจจุบันของสหรัฐฯ น้อยกว่าแผนงาน 47 ของพรรครีพับลิกัน โดยแพลตฟอร์มของพรรคเดโมแครตหน้า 37 ระบุว่า

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่แท้จริง และสัญญาว่าจะผลักดันการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ และทั่วโลก เราเชื่อว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และเรามีภาระผูกพันที่จะต้องช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ในการดำเนินงานนี้"

ในระดับประเทศ รัฐบาลของแฮร์ริสอาจทำให้หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) แข็งแกร่งขึ้นได้ ผ่านการใช้พระราชบัญญัติ ลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act : IRA) เพื่อจูงใจภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนไปสู่การใช้ไฟฟ้าในการขนส่ง ขณะเดียวกันก็ลดการปล่อยมลพิษจากโครงสร้างพื้นฐานเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย ขณะที่ในระดับนานาชาติ พรรคเดโมแครตตั้งเป้าจะรักษาความเป็นผู้นำด้านสภาพอากาศโลกไว้ได้ผ่านกระบวนการข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ของ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC)

“ศาสตราจารย์ ทิม จี. เบนตัน” นักวิจัยด้านโครงการสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ Chatham House กล่าวว่า แม้จะมีสัญญาณที่ดีในด้านนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมจากของแฮร์ริส แต่จนถึงปัจจุบัน แฮร์ริสก็ยังหลีกเลี่ยงการกำหนดนโยบายเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจเป็นกลยุทธ์ในการรักษาความน่าดึงดูดใจจากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีรายละเอียดสำคัญ แต่แคมเปญของเธอก็ยังได้รับการรับรองจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น Sierra Club

ทรัมป์ ให้อิสระด้านพลังงาน

แนวทางของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ต่อความยั่งยืนมีรากฐานมาจากการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาความเป็นอิสระด้านพลังงาน โดยนโยบายของเขาจะลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ในเดียวกันก็ส่งเสริมความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยตลาด การสนับสนุนการยกเลิกกฎระเบียบและการขยายตัวของเชื้อเพลิงฟอสซิลในอดีตของทรัมป์บ่งชี้ว่า นโยบายด้านพลังงานของเขาจะยังคงให้ความสำคัญกับภาคส่วนพลังงานแบบดั้งเดิมต่อไป

พระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อ (IRA) และพระราชบัญญัติ CHIPS (Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act) ในการเสริมสร้างการผลิต การออกแบบ และการวิจัย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ อาจยังคงมีผลบังคับใช้ แต่อาจจะเน้นที่นโยบายอุตสาหกรรมมากกว่ามาตรการด้านสภาพอากาศที่เข้มงวด ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนอาจจะได้เห็นข้อกำหนดการรายงาน ESG ที่เข้มงวดน้อยลง

ทั้งนี้ ใน แผนปฏิรูปอเมริกา Agenda 47 ของทรัมป์ มีการระบุว่าสัญญาด้วยว่า "จะออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง" เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก (ต่อหัว) รองจากจีนในแง่ของตัวเลข Paris Agreement จะเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและชะลอการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ทรัมป์อาจลดพื้นที่ทางการเมืองสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบีย รัฐบาลทรัมป์ได้ยกเลิก เพิกถอน หรืออยู่ระหว่างการย้อนกลับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 100 ข้อ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การปล่อยมลพิษสำหรับโรงไฟฟ้า การลดการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่าครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ และการถอนเหตุผลทางกฎหมายในการจำกัดการปล่อยปรอทจากโรงไฟฟ้า

หากประธานาธิบดีทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง ชัยชนะของทรัมป์อาจจะเป็นการสนับสนุนบริษัทขนาดเล็กในการลดค่าใช้จ่ายสูงที่ต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกกฎหมายปี 2016 ที่กำหนดให้บริษัทน้ำมันและก๊าซต้องตรวจสอบและจำกัดการรั่วไหลของมีเทนจากบ่อน้ำมัน สถานีอัดก๊าซ และการดำเนินงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นรายเล็ก แต่ถูกคัดค้านโดยบริษัทน้ำมันรายใหญ่

 

 

 

ที่มา : Donald J. Trump, DemocratsChatcham House, CSE, Quintet