‘AOT’ ลุยพัฒนาสนามบินสีเขียว ตอบโจทย์รักษ์โลก – ยกระดับสนามบินรับเทรนด์โลก

‘AOT’ ลุยพัฒนาสนามบินสีเขียว  ตอบโจทย์รักษ์โลก – ยกระดับสนามบินรับเทรนด์โลก

AOT เปิดแผน  ลุยพัฒนา "สนามบินสีเขียว" Net Zero พร้อมยกระดับบริการให้ทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้โดยสารยุคดิจิทัล รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

นายจักรภพ จรัสศรี ที่ปรึกษา 10 สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท."หรือ AOT กล่าวในงานสัมมนา "Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green" จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า แนวคิดของ AOT ที่มุ่งสู่ Green Airport มี 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. สนามบินมัลติโมเดิร์น: คือสนามบินที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างรถไฟ เรือ เพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น เช่น ที่ภูเก็ตก็จะมีเรือเฟอร์รี่ไปเกาะต่างๆ ได้

2.การเชื่อมโยงระบบ: ไม่ใช่แค่การเดินทางทางกายภาพ แต่รวมถึงการซื้อตั๋ว การจองโรงแรม ต้องทำได้ง่ายขึ้นผ่านระบบเดียว

3. ความยั่งยืน: ไม่ใช่แค่การทำสนามบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องคิดถึงชุมชนรอบข้างด้วย ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว

และ 4.ขนาดของสนามบิน: สนามบินขนาดใหญ่ไม่จำเป็นเสมอไป สิ่งสำคัญคือต้องเหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสะดวกสบายควบคู่กันไป

ปัจจุบันปริมาณการใช้บริการสนามบินในเครือข่าย AOT มีเที่ยวบินขึ้นลงเฉลี่ย 4 เที่ยวต่อนาที ซึ่งหมายความว่า มีผู้โดยสารมากกว่า 500 คน เดินทางผ่านสนามบินของ ทอท. ในทุก ๆ นาที

โดยเฉพาะก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน AOT ทั่วประเทศสูงถึง 140 ล้านคนต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยโดยเฉลี่ยใช้บริการสนามบิน ทอท. ประมาณ 2 ครั้งต่อปี

 

อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานไทยเป็นประตูบานแรกของประเทศไทย เพราะสนามบินเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี การท่องเที่ยวก็นับว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ค้ำยันเศรษฐกิจของเราเอาไว้

AOT จึงให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และกำลังมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า “Net Zero” โดย Net Zero ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ทุกคนต้องช่วยกัน

ปัญหาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสนามบินคือ "การใช้พลังงาน" เพราะสนามบินต้องใช้ไฟฟ้าเยอะมากในการทำความเย็น ทำความร้อน และระบบต่าง ๆ

ที่ผ่านมา AOT ได้ทำการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาหลายปี และพบว่าส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานโดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และในอนาคตอาจจะต้องมีการซื้อ คาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยส่วนที่ลดไม่ได้

อย่างไรก็ตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องที่ท้าทายและซับซ้อน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และอาจต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย เช่น การดักจับคาร์บอน

ในขณะที่ทุกคนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศAOT เองก็มีมาตรการหลายอย่าง เช่น การสร้างเขื่อนดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ตอนนี้กำลังพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้รู้ว่าจะมีน้ำท่วมเมื่อไหร่ จะได้เตรียมรับมือได้ทัน

นอกจากนี้มีเรื่องของ Zero Waste หรือการลดขยะให้เป็นศูนย์ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะสนามบินมีการใช้หลอดไฟจำนวนมาก และมีร้านอาหารต่างๆ ที่ผลิตขยะเป็นจำนวนมาก ทาง AOT จึงมีแนวคิดว่าแทนที่จะซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา เราควรจะซื้อแสงสว่างแทน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดขยะจากหลอดไฟที่ใช้แล้ว และร้านอาหารก็ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการขยะ เช่น ไม่ใช้ภาชนะโฟม หรือไม่ใช้หลอดไฟ

อีกประเด็นที่สำคัญคือในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจของสนามบิน เช่น พฤติกรรมของผู้โดยสารโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมาก พวกเขาต้องการประสบการณ์ที่แตกต่างและเฉพาะตัว

นายจักรภพ กล่าวต่อว่า แนวคิดในการพัฒนาสนามบินให้ทันสมัยและยั่งยืน ไม่ใช่แค่สถานที่ขึ้นลงเครื่องบินอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ รอบข้างมากขึ้น เช่น การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ การซื้อตั๋วที่สะดวกขึ้น และที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยดังนั้น การออกแบบสนามบินในอนาคตจึงไม่ใช่แค่สร้างอาคารให้สวยงามอีกต่อไป แต่ต้องคิดถึงระบบทั้งหมด เช่น ระบบการเช็คอินอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารแต่ละกลุ่มให้มากที่สุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจจะเห็นสนามบินเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น เคาน์เตอร์เช็คอินมีน้อยลง การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ลดลง และมีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบเอกสารมากขึ้น