'สะดุดแต่ไม่ถอย'  เร่งเครื่องต่อสู่ความยั่งยืน

สวัสดีครับเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ได้เปรียบเชิงกายภาพ ยามเกิดพายุก็มักจะผ่อนคลายความรุนแรงเมื่อพัดมาถึงไทย ทำให้เราไม่กลัวความเร็วของลมพายุเท่าไหร่ แต่ที่เรากลัวคือปริมาณน้ำฝนครับ

ฝนที่ตกต่อเนื่องอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนเกิดน้ำท่วมและดินถล่มที่ภาคเหนือของไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ย้ำเตือนถึงความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ที่ก่อความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านชี้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกเดือดนั่นเอง เห็นได้จากความถี่ของสภาพอากาศสุดขั้วที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากในอดีต

ท่ามกลางความเสี่ยงว่าเราจะเจอพายุมาทิ้งระเบิดฝน (Rain Bomb) อีกเมื่อไหร่ องค์กรต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าลดโลกร้อนผ่านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  แน่นอนว่าองค์กรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระบวนการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์วัดประเมินต่างๆ ด้าน ESG  ซึ่งการลงทุนเหล่านี้เริ่มกระทบผลการดำเนินงานโดยรวมขององค์กร

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ไม่นานมานี้ เราได้ยินข่าวว่าหลายบริษัทลดความเข้มข้นของคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้สู่การเป็นธุรกิจสีเขียว ขณะที่นักลงทุนบางกลุ่มหันกลับไปหากองทุนหวังกำไรทั่วไปแทนกองทุนรักษ์โลก

หนึ่งในตัวอย่างล่าสุดขององค์กรที่มีการปรับหรือเลื่อนการเปลี่ยนผ่าน คือจากที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค Unilever เคยมุ่งลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน ค.ศ. 2025  ปีนี้ Unilever ประกาศใหม่ว่าจะลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงให้ได้ร้อยละ 40 ภายใน ค.ศ. 2028

อีกตัวอย่างคือบริษัทพลังงานและปิโตรเคมี Shell ปรับเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยลูกค้าภายในปี 2030 จากที่เดิมเป็นตัวเลขชัดเจนคือร้อยละ 20 ปรับใหม่เป็นช่วงระหว่างร้อยละ 15-20  และค่ายรถยุโรปอย่าง Volvo เพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ว่าจะไม่เป็นบริษัทผลิตรถไฟฟ้า (EV) ล้วนภายใน ค.ศ. 2030 อย่างที่ตั้งเป้าไว้ตอนแรก แต่ผลิตเป็น EV ผสมกับรถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) แทน

อาจจะด้วยความซับซ้อนเชิงทฤษฎีหรือความยากเชิงปฏิบัติ จึงทำให้องค์กรเหล่านี้ตัดสินใจปรับปณิธานให้สะท้อนศักยภาพจริงขององค์กรว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย ESG ในระดับใด เพราะหากเป้าหมายที่เคยตั้งไว้เกินขีดความสามารถ องค์กรต้องทบทวนว่ามีทรัพยากรหรือองค์ความรู้เพียงพอสำหรับบรรลุเป้าหมายดังกล่าวหรือไม่ แล้วปรับเป้าหมายให้สมเหตุสมผลขึ้นก่อนเดินหน้าต่อไป

ใช่ครับ ต้องเดินหน้าต่อ เพราะสิ่งเหล่านี้มิใช่เพียงเส้นชัยที่แข่งครั้งเดียวจบ แต่เป็นมาตรฐานที่ควรยืดถือเป็นปกติ (Business as Usual: BAU) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกคนท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่เร่งขึ้นแบบไม่รอเรา  จากข้อมูลในรายงาน Sustainable Development Goals Report 2024 ชี้ว่าความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDG 17 ข้อภายใน ค.ศ. 2030 น่ากังวล เพราะขณะนี้ แม้เป้าหมายที่ 13 แก้ปัญหาโลกร้อน มีเป้าหมายย่อยที่คืบหน้าพอสมควร แต่ก็มีเป้าหมายย่อยที่ถดถอยแย่กว่าใน ค.ศ. 2015 เช่นกันเนื่องจากวิกฤตโลกหลายด้านที่ยืดเยื้อในหลายปีที่ผ่านมา

หันมามองประเทศไทย มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ของ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์ประเทศไทยในเรื่องนี้ว่าควรมุ่งเน้นไปที่ 6 เรื่อง อาทิ การรับมือกับภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นจนกระทบระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนทีเดียว นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน อุตสาหกรรม หรือการท่องเที่ยว ให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น เป็นต้น

เส้นทางสู่อนาคตสีเขียวอาจมีความท้าทายที่เราต้องก้าวข้าม  แม้จะสะดุดบ้างแต่เราต้องไม่ย่อท้อ มีแต่ต้องมุ่งหน้าบูรณาการ ESG ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพของเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้านครับ

\'สะดุดแต่ไม่ถอย\'  เร่งเครื่องต่อสู่ความยั่งยืน