พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘โลมา’ ครั้งแรกของโลก

พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘โลมา’ ครั้งแรกของโลก

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอาจสูดไมโครพลาสติกเข้าไปเป็นครั้งแรก โดยผลการศึกษาใหม่ที่ตรวจพบอนุภาคอันตรายในลมหายใจของโลมาปากขวดนอกชายฝั่งลุยเซียนาและฟลอริดา

KEY

POINTS

  • นักวิจัยพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของโลมามีอนุภาคไมโครพลาสติกอย่างน้อยหนึ่งอนุภาคฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ
  • ฟองอากาศที่เกิดจากคลื่นสามารถปล่อยไมโครพลาสติกสู่ชั้นบรรยากาศได้ 100,000 เมตริกตันต่อปี ดังนั้นโลมาที่หายใจบนผิวน้ำ จึงอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสสารพิษเป็นพิเศษ
  • ระบบหายใจและช่องหายใจเป็นช่องทางที่ทำให้วาฬและโลมาสัมผัสไมโครพลาสติกได้ง่าย

ในปีนี้นักวิทยาศาสตร์พบ “ไมโครพลาสติก” พลาสติกจิ๋วที่มีความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ปนเปื้อนอยู่ในร่างกายมนุษย์หลายส่วน จากการกินและการหายใจ ซึ่งจะเคลื่อนตัวไปยังอวัยวะอื่น ทั่วร่างกาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ 

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล” อย่างโลมา ก็มีไมโครพลาสติกอยู่ในเนื้อเยื่อด้วยเช่นกัน โดยพบว่าระบบหายใจเป็นช่องทางที่ทำให้วาฬและโลมาสัมผัสไมโครพลาสติกได้ง่าย

“เราพบว่าโลมาอาจหายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไป แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลจากกิจกรรมของมนุษย์ แสดงให้เห็นว่าอนุภาคเหล่านี้มีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะมีการขยายตัวของเมืองหรือการพัฒนาของมนุษย์หรือไม่” มิแรนดา ดิซิโอบัค นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาจารย์ด้านสาธารณสุขที่วิทยาลัยชาร์ลสตันในเซาท์แคโรไลนา ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมนำกล่าว

ไมโครพลาสติกลอยอยู่ในอากาศไปทั่วโลก ซึ่งนักวิจัยไม่แน่ใจว่าการสูดดมไมโครพลาสติกจะส่งผลต่อโลมาอย่างไร แต่สงสัยว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพปอดของสัตว์ได้ โดยดิซิโอบัคกล่าวว่า

“เราทราบดีว่าพลาสติกได้ปนเปื้อนไปแทบทุกส่วนของโลก ดังนั้นสัตว์ป่าก็ไม่น่าจะหลีกเลี่ยงพวกมันได้”

 

ลมหายใจมีไมโครพลาสติก

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและการบริโภคไมโครพลาสติกคิดเอาไว้อยู่แล้วว่า “การหายใจ” จะเป็นช่องทางที่ทำให้วาฬและโลมาได้รับไมโครพลาสติกในร่างกาย ซึ่งคล้ายกับที่มนุษย์ก็เคยสูดอนุภาคขนาดเล็กเข้าไปเช่นกัน และการศึกษาใหม่ล่าสุดนี้ก็ช่วยพิสูจน์สมมติฐานของนักวิทยาศาสตร์ได้

เพื่อทดสอบลมหายใจของโลมา นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างจากโลมาปากขวดป่า 11 ตัว โดยมี 6 ตัวจากอ่าวบาราทาเรีย ของรัฐลุยเซียนา และอีก 5 ตัวจากอ่าวซาราโซตา ในฟลอริดา ซึ่งระหว่างการประเมินสุขภาพการจับแล้วปล่อยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2023

ทีมศึกษาได้นำจานเพาะเชื้อไปไว้ที่ “ช่องหายใจ” ซึ่งเป็นทางที่โลมาจะหายใจเข้าและหายใจออก หลังจากตรวจสอบจานเพาะเชื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของโลมามีอนุภาคไมโครพลาสติกอย่างน้อยหนึ่งอนุภาคฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ

ชนิดของพลาสติกที่พบในโลมาคล้ายคลึงกับที่พบในการหายใจของมนุษย์ โดยพบโพลีเอสเตอร์ พลาสติกที่มักใช้ในเสื้อผ้ามากที่สุด โดยอนุภาคเหล่านี้หลุดออกมาจากเสื้อผ้าอยู่เสมอ ทุกครั้งที่สวมใส่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซักเสื้อผ้า

ฟองอากาศที่เกิดจากพลังงานคลื่นสามารถปล่อยไมโครพลาสติกสู่ชั้นบรรยากาศได้ 100,000 เมตริกตันต่อปี ดังนั้นโลมาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่น ๆ หายใจบนผิวน้ำ จึงอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสสารพิษเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ในอดีตนักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลได้รับไมโครพลาสติกจากการบริโภคเพียงอย่างเดียว เช่น การศึกษาในเดือนพฤศจิกายน 2022 ประเมินว่าวาฬบาลีนขนาดใหญ่ เช่น วาฬสีน้ำเงิน สามารถบริโภคไมโครพลาสติกได้มากถึง 10 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกมันอาจได้รับไมโครพลาสติกมากกว่านั้นมาก หากรวมไมโครพลาสติกที่มาจากหายใจเข้าไปด้วย

โลมาชายฝั่งและสุขภาพของมนุษย์

ในฐานะนักวิจัย ดิซิโอบัค หวังว่าจะทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสูดดมไมโครพลาสติกในโลมา เพื่อทำความเข้าใจประเภทของพลาสติกที่พวกมันสัมผัสและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น 

“เราเป็นกังวลกับสิ่งที่พบ เพราะโลมามีปอดขนาดใหญ่และหายใจเข้าลึกมาก ดังนั้นเราจึงกังวลว่าพลาสติกเหล่านี้อาจส่งผลต่อปอดของมันอย่างไร” นักวิจัยกล่าว

หากมนุษย์หายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไปอาจทำให้เกิดการอักเสบของปอด ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น เนื้อเยื่อเสียหาย มีเสมหะมากเกินไป ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เป็นแผลเป็น และอาจกลายเป็นมะเร็งได้ และโลมาก็สูดอนุภาคพลาสติกที่มีลักษณะคล้ายกัน ดังนั้นโลมาจึงอาจเสี่ยงต่อปัญหาปอดเช่นเดียวกัน

ตามธรรมชาติแล้ว โลมาปากขวดมีอายุยืนยาวได้ถึง 40 ปี โดยบางกลุ่มอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวตลอดทั้งปี จนกลายเป็นโลมาประจำถิ่น ซึ่งพวกมันมีประโยชน์ในการตรวจจับการรบกวนในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง มีวิถีชีวิตในริมชายฝั่งและทำประมงในละแวกเดียวกัน

นักวิจัยกล่าวว่าวิจัยครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ แต่ไม่น่าแปลกใจนักเนื่องจากไมโครพลาสติกมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม

“เรามีสรีรวิทยาที่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเป็นอย่างมาก และบริโภคอาหารทะเลที่พวกมันกินเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการวิจัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของมนุษย์” รายงานกล่าว


ที่มา: CNNIndependent, The ConversationThe Guardian