ไทย-เยอรมันเฟ้นเมืองต้นแบบ พัฒนาขนส่งยั่งยืน-คาร์บอนต่ำ
ภาคขนส่งเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานสูงสุดและภาคพลังงานก็เป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดทั้งในระบบโลก ภูมิภาค หรือแม้แต่ในประเทศไทย ดังนั้งหากจะลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อเป้าหมาย Net Zero
ก็ต้องเริ่มต้นที่การวางแผนโครงสร้างการคมนาคมขนส่งที่ตอบสนองความยั่งยืน หรือ การใช้พลังงานทั้งเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานควบคู่กันไป
การประชุมคณะทำงานโครงการความร่วมมือไทย - เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai - German Cooperation on Energy, Mobility and Climate : TGC - EMC ด้านคมนาคมขนส่ง ครั้งที่ 1/2567
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ที่ปรึกษาคณะทำงานเป็นประธานการประชุม โดยมีผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และที่ปรึกษา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สนข. ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
สำหรับโครงการ TGC - EMC ด้านคมนาคมขนส่ง เป็นโครงการเพื่อให้การสนับสนุนภาคพลังงานและการขนส่งของไทย ที่จะมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่การคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน โดยดำเนินการในพื้นที่ 3 เมือง เพื่อเป็นเมืองต้นแบบการขนส่งที่ยั่งยืน(City Lab for Sustainable Mobility) โดยใช้นวัตกรรมใหม่เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งและส่งเสริมการใช้ระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำ มีกรอบการดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2566 - 2570
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการความร่วมมือไทย - เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai - German Cooperation on Energy, Mobility and Climate : TGC - EMC ด้านคมนาคมขนส่ง ความเป็นมา วัตถุประสงค์ และขอบเขตการดำเนินงานในสาขาคมนาคมขนส่ง รวมถึงกรอบแนวทางและการดำเนินงานเพื่อเพื่อพิจารณาคัดเลือกเมืองต้นแบบการขนส่งที่ยั่งยืน (City Lab for Sustainable Mobility)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแผนจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล พร้อมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับนำไปประกอบการดำเนินโครงการฯ โดยมีมติเห็นว่าแผนงานมีความเหมาะสมสามารถดำเนินการได้ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านประชุมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาแบบจำลองด้านพลังงานสาขาขนส่ง โครงการศึกษาและพัฒนาแบบจำลองด้านพลังงานสาขาขนส่งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สอดคล้องกับที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีด้านพลังงานในอนาคตของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ประชุมได้ชี้แจงรายละเอียดหลักการ วัตถุประสงค์รายละเอียด ขั้นตอน แนวคิด และวิธีการดำเนินโครงการ ฯ ในการพัฒนาปรับปรุงแบบจำลองพยากรณ์ด้านพลังงานสาขาขนส่ง
พร้อมทั้งหารือในประเด็นเรื่อง 1. โครงสร้าง/รูปแบบและแนวทาง การจัดเก็บข้อมูลความต้องการการเดินทางภาคขนส่ง 2. ข้อมูลที่เกี่ยวข้องการใช้พลังงานในภาคขนส่ง และ 3. นโยบายและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องการใช้พลังงานสาขาขนส่ง
ทั้งนี้ สนข. และ สนพ. พร้อมที่จะร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้แบบจำลองด้านพลังงานสาขาขนส่งของประเทศสอดคล้องกับการใช้พลังงานในปัจจุบัน และรองรับการพยากรณ์สถานการณ์ในอนาคต ให้มีความน่าเชื่อถือและถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ส่วนการประชุมคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการรถไฟระหว่างเมือง ครั้งที่ 2/2567 ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 และทางสายใหม่ ความคืบหน้าการเสนอขออนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1. แผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ (บางส่วน) ภายหลังการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับ และ 2. การเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ พร้อมทั้งมอบให้ฝ่ายเลขานุการรับนำความคืบหน้าตลอดจนความคิดเห็นจากที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป